ทำความรู้จักครัวเรือนในภูมิภาค ผ่านมิติภาคการเงิน
หากถามว่าครัวเรือนในภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ อีสาน ใต้ มีบทบาทสำคัญอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เมื่อพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ก็คงได้คำตอบว่า อาจมีสัดส่วนไม่มากนักในมิติเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านตัวเลขขนาดเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมรายภาค (Gross Regional Product: GRP)
GRP ในปี พ.ศ. 2564 ที่มีสัดส่วน 3 ภาค รวมกันเพียง 26% ของทั้งประเทศ แต่หากพิจารณามิติอื่น ๆ จะพบว่า มีความสำคัญไม่น้อย เช่น จำนวนประชากร ซึ่งกว่า 65% ของประชากรไทยอาศัยอยู่ในภูมิภาค* หรือแม้กระทั่งมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองและหนี้ครัวเรือนใน 3 ภาค ที่มีสัดส่วนการถือครองราวครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ**
บทความนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความรู้จักครัวเรือนในภูมิภาค ผ่านมิติข้อมูลในภาคการเงิน*** ที่จะสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และพฤติกรรมของครัวเรือนในภูมิภาค โดยนำเสนอผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ครัวเรือนในภูมิภาคให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งนิยมเก็บออมและลงทุนในรูปแบบของที่ดินและทองคำเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก แตกต่างจากภาพรวมของประเทศที่ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงิน
ทั้งนี้ ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องที่ครัวเรือนในภูมิภาค มักจะนำมาแปลงเป็นเงินสดผ่านการใช้บริการโรงรับจำนำ โดยมักจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในช่วงที่ขาดสภาพคล่อง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หรือมีปัญหาทางด้านการเงิน เช่น ช่วงเทศกาล ช่วงเปิดเทอมของลูกหลาน
โดยพบว่าครัวเรือนที่มีอัตราการเข้า-ออกโรงรับจำนำสูงที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มรับจ้างทั่วไป ค้าขาย และข้าราชการ (ข้อมูลจาก Rocket Media Lab (2564) บทความ “โรงรับจำนำ ที่พึ่งคนจน?”)
2. กว่า 60% ของครัวเรือนในภูมิภาคมีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 52% และกว่า 50% ของครัวเรือนในภูมิภาคประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลให้มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนในภูมิภาคราว 70% มีรายได้ไม่พอรายจ่าย โดยต้องพึ่งพาเงินโอนจากลูกหลานและหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งบางกลุ่มจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนอื่น โดยเฉพาะจากสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกหลานบางส่วนย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา ทำให้มีรายได้ลดลง จึงทำให้เงินโอนและเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากลูกหลานปรับลดลงจากที่เคยได้รับในช่วงก่อนหน้า
3.รายจ่ายครัวเรือนกว่า 80% เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค โดยสัดส่วนรายจ่ายแยกตามประเภทค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในทุกภูมิภาคและภาพรวมของประเทศไม่แตกต่างกัน
แต่พบว่า รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคในแต่ละภูมิภาคจะมีความแตกต่างกันตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือเป็นรายจ่ายที่สำคัญของครัวเรือนในภูมิภาค เช่น ค่าใช้จ่ายงานบุญ งานแต่งงาน ซึ่งถือเป็นภาษีสังคมที่จ่ายเป็นประจำในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ยังพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ ครัวเรือนในภูมิภาคมักจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานฌาปนกิจของบุคคลในครอบครัว โดยบางครัวเรือนอาจต้องกู้เงิน
เพื่อนำมาจัดงานให้เหมาะสมกับฐานะของครัวเรือนและเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตาในสังคม
4. สัดส่วนสินเชื่อของครัวเรือนในภูมิภาคที่ขอกู้จากสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ โดยมักจะขอสินเชื่อเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
นอกจากนี้ พบว่าครัวเรือนในภาคอีสานมีสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อการเกษตรเป็นอันดับที่สอง รองจากสินเชื่อส่วนบุคคล และมีสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพของคนในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก
5. ครัวเรือนในภูมิภาคนิยมใช้บริการด้านการเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และสถาบันการเงินกึ่งในระบบ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน ทั้งด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพและเงินทุนหมุนเวียนในครัวเรือน
ซึ่งมีความแตกต่างจากภาพรวมของทั้งประเทศ (ผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน ปี 2565 ของธนาคารแห่งประเทศไทย) ที่พบว่า ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และ SFIs เป็นผู้ให้บริการหลักด้านเงินฝาก ขณะที่ผู้ให้บริการหลักด้านสินเชื่อเป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) ส่วน SFIs มีบทบาทรองลงมา
โดยสรุป ครัวเรือนในภูมิภาคมีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ มีรายได้ไม่แน่นอน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นเงินสดในกรณีที่มีความจำเป็น และมีภาระหนี้ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นหนี้ที่พึงระวังและไม่ก่อให้เกิดรายได้
ด้วยลักษณะด้านการเงินดังกล่าว การยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนในภูมิภาค สามารถทำได้ ผ่านทั้งด้านรายได้ อาทิ การส่งเสริมอาชีพ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งมีหลายโครงการของภาครัฐที่กำลังขับเคลื่อนอยู่
และด้านรายจ่าย
อาทิ การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของประชาชน การวางแผนทางการเงินที่สามารถเริ่มได้ง่าย ๆ โดยการทำบันทึกรายรับรายจ่าย การเก็บเงินออมไว้เผื่อยามฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานในหลายภาคส่วนได้ขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งการออกหลักเกณฑ์ Responsible Lending เพื่อยกระดับการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ตลอดจนส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว.
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
อ้างอิง
*ลักษณะของประชากรในภูมิภาคมีอายุและการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีรายได้ต่ำกว่า ส่วนหนึ่งเพราะประชากรเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกรและอีกเกือบครึ่งหนึ่งทำงานในภาคบริการ มีเพียง 10% ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม (ที่มา: ข้อมูลจำนวนประชากรไทย ปี 2565 โดยกรมการปกครอง ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ, คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย)
**/*** ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ, คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และข้อมูลจากการสัมภาษณ์
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย”
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ศศุภร ปลั่งพงษ์พันธ์
มณฑล ศิริธนะ