หอการค้าไทย ชู 4 แผนรับมือการเปลี่ยนแปลง 4 แผนเชิงรุก หนุนจีดีพีไทยโตเกิน 3 %
หอการค้าไทย ชี้ไทยเผชิญ 4 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ พร้อมชู 4 แผนเชิงรุก สอดรับ วิสัยทัศน์ไทย 8 ข้อรัฐบาล หนุน GDP ไทยปีนี้ โตเกิน 3%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลง 8 วิสัยทัศน์จุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นที่ 1 ในภูมิภาค ทั้ง 8 ด้านวางวิสัยทัศน์ของประเทศในระยะยาว และยุทธศาสตร์ที่นำมาเสนอนั้นถือว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิด Connect Competitive Sustainable ของหอการค้าไทย ที่ใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเอกชน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเจอความท้าทายที่หลากหลายในปีที่ผ่านมา ทำให้จีดีพีในปี 2566 เติบโตได้ไม่เป็นไปตามที่คาดประมาณการไว้ ทั้งเศรษฐกิจโลกผันผวน เปลี่ยนผ่านรัฐบาลช้ากระทบงบประเทศ วิกฤตหนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยสูง -รวมถึงกำลังผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้จีดีพี ที่ปี 2566 เติบโตเพียง 1.9% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าเติบโตต่ำกว่าศักยภาพและประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับปี 2567 นี้ หากรัฐบาลสามารถดำเนินการผลักดันตามยุทธศาสตร์แต่ละด้าน พร้อมกับเร่งให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีออกมาใช้ได้รวดเร็วในช่วงต้นเดือนเม.ย.ตามที่ได้แถลงไว้ จะทำให้งบประมาณกระจายสู่พื้นที่ต่างๆ และเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
หอการค้าฯ มองว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับ 4 การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1. Geopolitical Change ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความกังวลและความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงผลการเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐและหลายประเทศในปีนี้ จะมีส่วนทำให้เกิดความผันผวนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลเป็น Team Thailand Plus ในการปลดล็อคส่งเสริมภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น สร้างโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
2. Technology Change ปัจจุบัน AI Technology เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทุกมิติ จึงเสนอให้ภาครัฐยกระดับมาตรการ Talent immigration policy เพื่อดึงดูดคนต่างชาติที่เก่งเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะสมัยใหม่ โดยรัฐบาลควรมีมาตรการ Incentive ที่เหมาะสมเช่น การอำนวยความสะดวกเรื่อง Visa และ Work permit มาตรการทางภาษี มาตรการพำนักอยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นต้น นอกจากนี้ต้องปรับปรุงกฎระเบียบ การลดขั้นตอนการติดต่อ การขอและการเซ็นเอกสารจำนวนมากให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
3. Population Change ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากรจากแนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรและพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างคนไทยให้กลายเป็น Global Citizen ที่มีคุณภาพ ผ่านการยกระดับ Upskill Reskill อย่างต่อเนื่อง
4. Climate Change ปัญหาเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบทางตรงต่อประเทศไทย โดยเฉพาะสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการคือการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างเป็นระบบ ปีนี้ต้องยอมรับว่ายังมีความกังวลต่อปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลต่อผลผลิตภาคเกษตรจากสภาวะเอลนีโญ (El Niño) รวมถึงปัญหา PM 2.5 ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนระยะสั้นเพื่อรับมือ และวางมาตรการระยะยาวเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบวงกว้างในภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายสนั่น กล่าวว่า นอกเหนือจาก 4 แผนรับมือการเปลี่ยนแปลงข้างต้นแล้ว หอการค้ายังพร้อมจะดำเนินการ 4 แผนเชิงรุก เสริมกับภาครัฐให้เกิดการลงมือทำร่วมกันดังนี้
1. ดูแลอัตราดอกเบี้ยและการสนับสนุนแหล่งเงินทุน ปัจจุบันภาคธุรกิจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงและสถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หอการค้าฯ จึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลอัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระของประชาชนและลดต้นทุนผู้ประกอบการ รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ ๆ ช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน (เติมทุน แก้หนี้ และขยายกิจการ)
2. การสนับสนุนการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ปี 2567 จะเป็นอีกปีที่ภาคการท่องเที่ยวเติบโตโดดเด่น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ต้นปีถึงถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์กว่า 5 ล้านคน โดยคาดการตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 35 ล้านคน และอาจทะลุถึง 38 ล้านคนได้ นอกจากนั้น หอการค้าฯ และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวยังมุ่งขยายผลการท่องเที่ยวคุณภาพสูง (Happy Model) โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองรอง ถือเป็นการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยซ้ำในพื้นที่ใหม่ จะช่วยกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
3. ยกระดับจังหวัดสู่เมืองหลักที่เข้มแข็งพร้อมการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ หอการค้าฯ และรัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการรผลักดันโครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัด นครพนม ศรีสะเกษ แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ถือเป็นบิ๊กโปรเจคที่หอการค้าฯ และรัฐบาลจะร่วมกันดันเศรษฐกิจในระดับจังหวัดให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน และระบบ Infrastructure
4. การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ การเร่งเดินหน้าเจรจา FTA เพื่อขยายตลาดการค้า การลงทุน ที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูง เช่น ซาอุดิอาระเบีย เวียดนาม ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบาย FDI อย่างต่อเนื่อง
“ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่ายพร้อมให้การสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มขีดความสามารถ และเชื่อว่าหากภาคเอกชนและภาครัฐผสานการทำงานร่วมกันตามข้อเสนอแนะ ทั้ง 4 แผนรับมือการเปลี่ยนแปลง และ 4 แผนงานเชิงรุก จะยิ่งเป็นกำลังเสริมให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตเกิน 3% ได้อย่างแน่นอน” นายสนั่น กล่าว