เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
เธอจ๋า เธอก็คงรู้ว่าฉันมีใจให้เธอ มีแต่ความปรารถนาดี อยากเห็นเธอเติบโต เหมือนเพื่อนบ้านทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตก
เพื่อให้สมาชิกในบ้านของเธอ ที่รวมตัวฉันเองและคนที่ฉันรัก ได้อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางและมีคุณภาพชีวิตที่แย่เหมือนปัจจุบัน
แต่ความหวังของฉันก็ริบหรี่ลงเรื่อยๆ หลังจากที่เห็นเธอเผชิญกับหลากหลายวิกฤตที่พร่างพรู ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ การเมือง น้ำท่วม ภัยแล้ง Covid รวมถึงเงินเฟ้อและเงินฝืดในปัจจุบัน
หลังวิกฤตต่างๆ การเจริญเติบโตของเธอก็ลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับความสามารถในการแข่งขันของเธอที่ลดลง ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเธอโตแทบต่ำที่สุดในละแวกนี้ ขณะที่รายได้ในสมาชิกครอบครัวเธอก็โตต่ำ
โดยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของรายได้ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 3.04% ต่อปี ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม หรือจีน ที่โตในระดับ 4.2-8.1% ต่อปี และที่น่ากลัวคือ รายได้ต่อหัวตกต่ำมาตั้งแต่หลัง Covid และยังไม่ได้ฟื้นกลับไปอยู่ระดับเดียวกับก่อน Covid เลย
คำถามคือ อะไรเกิดขึ้นกับเธอ ฉันเองก็ว้าวุ่นใจ ลองหาข่าวต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นเหล่านี้ เผื่อจะลองแกะปัญหาไล่ขึ้นมาถึงต้นตอ จะได้หาวิธีแก้ไข
วันก่อน ฉันได้เจอข่าวที่น่าสนใจ โดยสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เขาได้จัดงานเสวนา มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเล่าถึงปัญหาที่ท่านรับผิดชอบ ฉันขอสรุปให้เธอฟัง 3 ประเด็นใหญ่ โดย 3 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ
กระทรวงแรก กระทรวงแรงงาน โดยสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวรวม 4 ล้านคน ผลจากแรงงานไทยจะไม่นิยมทำงานบางประเภท
เช่น งานที่ใช้แรงงาน หรืองานที่มีความลำบาก เช่น แกะปลา แกะกุ้ง ทำให้ไทยต้องจ้างต่างด้าววันละ 400 บาท และส่งเงินกลับบ้านปีละ 1.2 ล้านล้านบาท หรือกว่า 7% GDP
กระทรวงที่สอง กระทรวงพลังงาน โดยปัญหาเร่งด่วน คือการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน เนื่องจากไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าน้ำมัน 80% ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้ามาดูแลราคาเพื่อตรึงให้ดีเซล 30 บาทต่อลิตร
ซึ่งทำให้ในตอนนี้กองทุนติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาทแล้ว แต่ทางรัฐบาลก็จะต้องพยายามดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ลิตรละ 30 บาท ซึ่งอาจทำได้ถึงเดือน มี.ค. แต่หลังจากนั้นหากจำเป็นต้องปรับขึ้นไป 32 บาทต่อลิตร
กระทรวงที่สาม กระทรวงพาณิชย์ โดยปัญหาสำคัญขณะนี้คือเรื่องสินค้านำเข้าจากจีนที่จะทะลักเข้ามา ส่งผลกระทบต่อ SME ไทย และทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีสินค้าจากจีน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก และ กลุ่มที่ 2 คือสินค้าขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ที่ส่งผ่านมาช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ฉันมองว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสามมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย ปัญหาแรก การพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าแรงที่สูงขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังปี 2012 ที่มีการปรับค่าแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่มี Margin น้อย ต้องหันไปหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกกว่า ซึ่งในเชิงของเศรษฐศาสตร์ ทางแก้คือต้องนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาแทน ซึ่งจะทำให้การทำงานบางประเภท เช่น แกะปลา แกะกุ้ง ถูกแทนด้วยเครื่องจักร
คำถามคือ ทำไมผู้ประกอบการไทยไม่ทำเช่นนั้น คำตอบคือ แค่ในปัจจุบัน การแข่งขันก็สูงจนแทบไม่มี Margin แล้ว การทุ่มเงินซื้อเครื่องมือเครื่องจักรก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงขาดทุนมากขึ้น สู้จ้างแรงงานต่างด้าวดีกว่า
ปัญหาที่สอง คือการพึ่งพิงน้ำมันมาก ซึ่งทำให้ไทยขาดดุลการค้า เกิดมลพิษ และจราจรติดขัด คำถามคือ ทำไมเราไม่คมนาคมขนส่งด้วยระบบราง ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า
คำตอบคือ เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ ทำให้การขนส่งช้า ต้นทุนสูง การเดินทางลำบาก ปิดโอกาสที่คนหรือธุรกิจจากต่างจังหวัดจะเดินทางเข้าเมืองใหญ่ (หรือในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่หรือต่างประเทศเดินทางไปเที่ยวในต่างจังหวัด) ได้อย่างสะดวก
ปัญหาที่สาม คือ ปัญหาการทุ่มตลาดจากจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสามารถลดต้นทุนได้ต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการจีนหั่นค่าแรงของธุรกิจเพื่อให้สามารถส่งออกได้
แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการใช้กลยุทธแบบ C&D หรือ copy and development คือลอกเลียนนวัตกรรมระดับโลกและมาทำเลียนแบบด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเป่าผม เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ เป็นต้น
ฉันมองว่า ทั้งหมดนี้ เกิดจากนโยบายของรัฐที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะนโยบายการเงินและ นโยบายการคลัง
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวมาเกินกว่าทศวรรษ พิมพ์เงินที่น้อยกว่าเพื่อนบ้าน ทำให้ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าสกุลอื่นโดยเปรียบเทียบ ทำให้เงินเฟ้อเราต่ำกว่าเพื่อนบ้าน
ทำให้ผู้ประกอบการไทยมี Pricing power ทั้งในสินค้าต่างประเทศและในประเทศต่ำกว่าคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยจึงต้องกดค่าจ้างลูกจ้างให้ยังต่ำ และไม่มี Margin เหลือไปลงทุน ทำ R&D ซื้อเครื่องมือเครื่องจักร มาพัฒนาความสามารถในการผลิตของตนเอง
ในส่วนนโยบายการคลัง การที่เรายึดมั่นถือมั่นในวินัยการคลัง ไม่ก่อหนี้จนเกินตัว แม้หนี้เหล่านั้นจะเป็นหนี้ที่ทำให้ความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของเราสูงขึ้นในอนาคต
ทำให้เราไม่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานาน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ที่จะสามารถลดการพึ่งพิงน้ำมัน
เมื่อหลายปีก่อน ฉันเคยได้ทำแบบจำลองทางเศรษฐมิติอย่างง่าย โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างการก่อหนี้สาธารณะกับการเติบโตของรายได้ต่อหัวในช่วงการเติบโตสูงของประเทศเจริญแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่
ฉันพบว่าประเทศพัฒนาแล้วจะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะนำมาซึ่งการเติบโตของรายได้ต่อหัวกว่า 15-20% ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา การก่อหนี้ที่ต่ำกว่า ทำให้รายได้ต่อหัวเราเติบโตต่ำด้วยอัตราประมาณ 2-4% เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ส่วนหนึ่งสามารถแก้ได้ด้วยนโยบายการเงินการคลัง แต่ที่น่าเศร้าคือ ทุกฝ่ายต่างมองว่า ธุระไม่ใช่ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เอง จะทำให้เธอตกต่ำลง ผู้คนอยู่อย่างยากลำบากมากขึ้น และเลือนหายไปจากเวทีโลกในที่สุด
ด้วยรัก จากฉันเอง
*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่