จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับที่ 2)
เรียนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จดหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 หลังจากที่ฉบับแรก กระผมได้เคยเขียนถึงท่านเมื่อกว่า 5 ปีก่อนในประเด็นที่คล้ายกัน นั่นคือ ประเด็นนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป และนำมาสู่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดลงต่อเนื่อง
หลังจากจดหมายครั้งนั้น เศรษฐกิจไทยก็เผชิญกับวิกฤตที่ถาโถม เช่น วิกฤต Covid วิกฤตห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตเศรษฐกิจจีน และวิกฤตด้านประชากร แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง คือนโยบายการเงินที่ตึงตัว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอลง
โดยในสัปดาห์หน้า ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4/2023 ที่จะประกาศออกมาจะย่ำแย่ต่อเนื่อง และจะบ่งชี้ Momentum เศรษฐกิจที่ชะลอลงมาก ท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายที่สูงสุดในรอบ 10 ปี
แต่สิ่งที่กระผมจะขอหารือกับท่าน หาใช่การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงสั้น ๆ ที่อาจถูกบิดเบือนด้วยปัจจัยเชิงวัฏจักร และกระผมก็ต้องขอยอมรับและชื่นชมท่านคณะกรรมการ โดยเฉพาะเสียงข้างน้อย ที่เห็นภาพเศรษฐกิจโดยรวมและพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะต่อต้านวัฏจักร (Counter-cyclical) ซึ่งเป็นสิ่งที่ กนง. พึงกระทำในสถานการณ์เช่นนี้
สิ่งที่กระผมจะขออนุญาตหารือกับท่าน คือภาพการดำเนินนโยบายการเงินระยะยาว โดยหากพิจารณาจากปี 2012 เป็นต้นมา การเติบโตของปริมาณเงินในระบบ (M2) ของไทยต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย
โดยในรอบกว่า 12 ปีนี้ ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นเพียง 86.5% ต่ำกว่ามาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย จีน และเวียดนาม ที่ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 100-350%
ปริมาณเงินของไทยที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เป็นเพราะเมื่อใดที่เงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธปท. จะส่งสัญญาณคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก ทำให้เงินเฟ้อไม่กระเตื้องขึ้น และเป็นเหตุให้ไม่เกิด Demand-pull inflation รวมถึงทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (หรือดอกเบี้ยปกติลบเงินเฟ้อ) ของไทยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ
เมื่อนโยบายการเงินไทยตึงตัวกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ ค่าเงินบาทจึงแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน โดยพิจารณาได้จาก Nominal Effective Exchange Rate (NEER) ที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่งกว่า 19.73% นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
และหากเปรียบเทียบค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสกุลอื่น ๆ พบว่าในช่วงเดียวกัน ค่าเงินอ่อนค่าประมาณ 16.4% ในรอบ 12 ปี
ภาพ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีค่าเงินบาท
ขณะที่สกุลอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียรูเปียห์ มาเลเซียริงกิต และฟิลิปปินส์เปโซ อ่อนค่าในระดับ 36-60% ทำให้บาทเทียบกับสกุลเหล่านั้นแข็งค่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในปี 2012 เงิน 1 ริงกิตแลกได้ 10.1 บาท ปัจจุบันแลกได้เพียง 7.5 บาทเท่านั้น
อีกปรากฏการณ์หนึ่งของการพิมพ์เงินที่น้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ โดยตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดียที่อยู่ที่ 1.75-5.92%
ผลของค่าเงินบาทที่แข็งมากเกินไป ทำให้การส่งออกเติบโตต่ำ เพราะความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสู้คู่แข่งไม่ได้
เราจึงเห็นการส่งออกของไทย ขยายตัวต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยตลอด รวมไปถึงทำให้ผู้ส่งออกมีผลกำไรหรือ Margin น้อย ทำให้ผู้ส่งออกลดต้นทุนโดยการกดค่าจ้าง เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ดูแลได้ง่ายสุด ทำให้รายได้ของลูกจ้างไม่เติบโต และเมื่อค่าจ้างไม่เติบโต ทำให้เงินเฟ้อจากความต้องการซื้อหรือ Demand-pull inflation ไม่เกิดขึ้น
ในทางกลับกัน ในฝั่งผู้ผลิต เมื่อไม่มี Margin เท่าที่ควร จึงไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ (R&D) เพราะความสำเร็จไม่ชัดเจน แต่เลือกที่จะหันไปลงทุนกับการสร้างเครือข่ายหรือ connection มากกว่า เนื่องจากจะสามารถได้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ มากขึ้น และอาจนำไปสู่ช่องทางการขยายธุรกิจ
ผลอีกด้านหนึ่งของปริมาณเงินที่น้อยเกินไป คือดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถขึ้นได้มากนัก เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยต่ำ ทำให้ ธปท. มีกระสุนน้อยในการกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น และเมื่อประกอบกับนโยบายการคลัง และนโยบายเชิงโครงสร้างที่ตึงตัว นำไปสู่รายได้ต่อหัวที่โตต่ำ
ภาพทั้งหมดนี้ทำให้การเติบโตของไทยแทบอยู่ระดับต่ำสุดในเอเชีย โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) เฉลี่ย 1.9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับเดียวกับญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ แต่ทั้งสามประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทย ถึง 5-7 เท่า
ขณะที่ในส่วนรายได้ต่อหัว จะพบว่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา การเติบโตรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ต่ำกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และจีน ที่อยู่ที่ระดับ 3.15%-8.41% ต่อปีตามลำดับ
ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไปนั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก โดยหาก ธปท. จะแก้ไขปัญหานี้ กระผมขอเสนอแนวทาง 3 ประการ
ประการแรก ได้แก่ การเปลี่ยนแนวคิดหรือ Mindset ของ ธปท. ว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่น่ากลัวเพียงอย่างเดียว โดยหากเราสามารถอนุญาตให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้บ้าง เช่น 3-4% ต่อปี จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีพลวัตรมากกว่าปัจจุบัน
ประการที่สอง การใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ น่าจะมาพร้อมความรับผิดชอบ (accountability) ด้วย กล่าวคือ หากธปท. ไม่สามารถทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบได้ น่าจะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าเพียงแค่เขียนจดหมายเปิดผนึกให้กับกระทรวงการคลังดังที่เคยทำมา และ/หรือ
ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นมุมมองที่กระผมเห็นว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยที่สุด ได้แก่การเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงิน จากเป้าหมายเงินเฟ้อมาสู่เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน แต่จะเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ยึดกับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยึดกับค่าเงินคู่ค้าคู่แข่งหรือ NEER
โดยเป้าดังกล่าวอาจไม่จำเป็นต้องเปิดสู่สาธารณชนเพื่อกันการเก็งกำไร และมีช่องทางให้ ธปท. สามารถบริหารค่าเงินอย่างยืดหยุ่นได้ ซึ่งคล้ายกับทางการจีน และสิงคโปร์ทำอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องหันมาเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจริงจังขึ้น ปรับกฏเกณฑ์การก่อหนี้สาธารณะ ให้เหมาะสมกับความต้องการเศรษฐกิจ (เช่น สามารถก่องบผูกพัน เพื่อสร้างการลงทุน) ขณะที่นโยบายเชิงโครงสร้าง เน้นการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำงาน/ ทำธุรกิจได้มากขึ้น
ซึ่งกระผมเห็นว่า การ "ยกเครื่อง" นโยบายเศรษฐกิจทั้ง 3 ขา (การเงิน การคลัง และเชิงโครงสร้าง) เท่านั้น ถึงจะพาให้ไทยรอดพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่เราตกมากว่า 2 ทศวรรษ (และยิ่งรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน) ได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ปิยศักดิ์ มานะสันต์
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่