ไขรหัส ‘เศรษฐา’ ลง 3 จังหวัดภาคใต้ ภารกิจนายกฯเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่รอบ 20 ปี
ไขรหัส "เศรษฐา" ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดันเที่ยวใต้สุดใจ หวังสร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยวเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างสมดุลสังคมพหุวัฒนธรรม "พรหมินทร์" ชี้เป็นนายกฯคนแรกในรอบ 20 ปีที่ลงมาในพื้นที่ในเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยวใต้ สุดใจ” ที่จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ช่วงระหว่างวันที่ 27-29 ก.พ. 67 ที่ผ่านมาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า พื้นที่ 3 จังหวัดมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งมุสลิม ชาวพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีน สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก
“ที่ผ่านมาเรามักจะพูดกันถึงด้านความมั่นคง กว่า 20 ปีที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนมาลงพื้นที่ ในมิติใหม่คือด้านเศรษฐกิจพร้อมกัน ทั้ง 3 จังหวัด นายกฯ ระบุถึงเศรษฐกิจจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น สังคมจะไม่เดือดร้อน มุ่งทำมาหากินกัน มีงานทำ สนับสนุนภาคบริการที่จะเติบโตขึ้นบนสังคมพหุวัฒนธรรม”
ขณะที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาค และในพื้นที่ดีขึ้น เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคที่ดำรงมาอย่างยาวนานโดยใช้การใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา
การที่ตนเองลงมาที่นี่เองมาอยู่ 2 คืนชาวบ้านบอกเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในรอบเป็น 10 ปีที่มาค้างที่นี่ ตนเองลงมาเพราะใส่ใจ อยากมารับรู้ศักยภาพ มามองหา และมองเห็นโอกาสด้วยตาตัวเอง ถือว่าเป็นการแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าเราจะนำความเสมอภาค ความเท่าเทียม และโอกาส มาสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตนอยากให้พี่น้องไว้วางใจรัฐบาลนี้ ว่าเราเข้าใจและเห็นใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างดี อีกประมาณ 10 วันข้างหน้านี้ จะเข้าสู่ช่วงรอมฎอนแล้ว ทราบมาว่าเป็นช่วงแห่งการอดทน อดกลั้น และให้อภัย ขอให้ใช้โอกาสนี้เดินไปข้างหน้าด้วยกัน
“วัตถุประสงค์ในการมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ชัดเจนครับ ผมมามองหาสิ่งมีค่า Hidden Gem ที่ซ่อนอยู่ มาถ่ายทอดให้ชาวโลกรู้ มาส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจครับ ผมอยากมองทุกอย่างให้เป็น ‘โอกาส’ ผมไม่อยากพูดถึง ‘ปัญหา’ ที่ผ่านมาเราอาจจะมีการใส่งบประมาณ ใส่โครงการต่างๆลงมาแล้วก็ตาม แต่ผมมองว่าไม่สำคัญเท่ากับการใส่ใจลงมาครับ”
วันนี้รัฐบาลก็พร้อมที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนเข้าหากันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งในประเทศและเชื่อมกับโลก วันนี้ทุกคนอยากมีโอกาส อยากมีเงินในกระเป๋า ถ้าเศรษฐกิจดี มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน เพราะทุก ๆ คนเป็นคนไทย ผมเชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการคลี่คลาย ส่วนเรื่องการคมนาคม มีการพูดคุยเรื่องถนนและสนามบิน ไม่ต้องห่วงเพราะตนมาที่นี่เพื่อมาสร้างดีมานท์ให้เกิดการท่องเที่ยวการเชื่อมโยงเข้าหากันก็คือปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว
น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้สัมผัสได้ด้วยตัวเองว่าบรรยากาศสบายและยกระดับการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยนายกฯ ให้ความสำคัญทั้งอาหาร วัฒนธรรม สินค้าที่กำลังจะเป็นสินค้าจีไอ ได้แก่ ปลานิลน้ำไหล ปลาพลวงชมพู รสชาติอร่อยมาก ไก่เบตง ส้มโชกุน ปลากุเลาตากใบ สิ่งเหล่านี้ต้องผลักดัน
สำหรับกิจกรรมวันที่ 27 ก.พ.2567 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเดินทางเยือนสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวและศิลปะวัฒนธรรม โดยที่จังหวัดปัตตานี นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมตลาดวิถีชุมชนพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี พบปะผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ณ มัสยิดกรือเซะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเมืองปัตตานี ได้แก่ บ้านขุนพิทักษ์รายา บ้านเลขที่ 5 กือดาจีนอ ตลาดวัฒนธรรมกือดาจีนอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) พร้อมเยี่ยมชมมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน “กตัญญูคู่ฟ้ามหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี” ประจำปี 2567
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบปะคณะกรรมการอิสลามและคณะกรรมการมัสยิด และเยี่ยมชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
สำหรับวันที่ 28 ก.พ.2567 ณ จังหวัดยะลา นายกรัฐมนตรีเดินทางเยี่ยมชมอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park) อำเภอเมืองยะลา และเยี่ยมชมกิจกรรมส่งเสริมสินค้า “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” และ “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” สู่ GI ไทย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา อำเภอเบตง
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะการเยี่ยมชมกิจกรรมภายในสวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง (สวนหมื่นบุปผา) อำเภอเบตง และติดตามผลการดำเนินงานของด่านศุลกากรเบตง ณ ด่านศุลกากรเบตง อำเภอเบตง รวมถึงเยี่ยมชมอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย
และในวันที่ 29 ก.พ.2567 ณ จังหวัดนราธิวาส นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอาน และพบปะกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และมอบนโยบายในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่