เที่ยวพะเยาเมืองรอง: สนามบินเป็นยาวิเศษ?
เมื่อนายกรัฐมนตรีเศรษฐา และคณะได้สัญจรไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่จังหวัดพะเยา ได้ประกาศเมกะโปรเจคคือการก่อสร้างสนามบินพะเยาที่ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้
โครงการตั้งงบประมาณไว้เบื้องต้นประมาณ 4,421 ล้านบาท ใช้พื้นที่ 2,812 ไร่ เพื่อยกระดับพะเยาเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว โดยมีงบ 100 ล้านบาทให้ศึกษา EIA สร้างเฟสแรกจะเปิดใช้ในปี 2577
ก่อนอื่นเราควรดูศักยภาพของพะเยาเทียบกับเมืองท่องเที่ยวรอบ ๆ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ ลำปาง การเปรียบเทียบศักยภาพนี้ใช้ดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มูลนิธิศึกษานโยบายสาธารณะพัฒนาขึ้นตามรอยดัชนี Travel and Tourism Competitive Index ของ World Economic Forum (WEF) โดยมีดัชนีย่อยด้านผู้มาเยือนและดัชนีย่อยด้านเจ้าบ้าน
ในแต่ละด้านก็จะมีตัวชี้วัดที่เป็นเสาหลักต่าง ๆ เช่น โอกาสด้านการตลาด สิ่งดึงดูดใจ โครงสร้างสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคท่องเที่ยว สภาพสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนภาคท่องเที่ยว รวมทั้งศักยภาพของเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งทั้งสิ้น 81 ตัวชี้วัด ซึ่งการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก ททท. บพข. และ วช. ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2558
จากตารางที่ 1 เราจะเห็นว่าศักยภาพรวมของการพัฒนาการท่องเที่ยวของพะเยา ณ เวลานี้ ที่ยังค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับจังหวัดที่อยู่รอบๆ
พะเยาอยู่ในลำดับ 61 ในภาพรวมศักยภาพเทียบกับเชียงรายที่ลำดับที่ 9 โดยที่ดัชนีผู้มาเยือนของพะเยาอยู่ในระดับ 55 แต่ดัชนีเจ้าบ้านของพะเยาอยู่ในลำดับที่ 69 หมายความว่าพะเยายังไม่มีความพร้อมเรื่องซัพพลายที่จะรองรับนักท่องเที่ยว
เมื่อเห็นตัวเลขเหล่านี้แล้วก็พอที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมตอนนี้ถึงยังไม่มีสนามบินในพะเยา เพราะพะเยายังมีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวมาน้อยไม่คุ้มการลงทุนที่จะเปิดสายการบิน ในปี 2566 พะเยามีนักท่องเที่ยวไทยไม่ถึง 1 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 42,000 คน มีรายได้ท่องเที่ยวรวมประมาณ 2,300 ล้านบาท
ส่วนการมีสนามบินจะช่วยฉุดท่องเที่ยวเมืองรองขึ้นมาให้เป็นเมืองหลักได้จริงหรือ? เราคงพอจำได้ว่ารัฐบาลพยายามเปิดสายการบินเบตง – กรุงเทพอยู่ไม่กี่เดือนก็ต้องปิดไป หรือลองดูแพร่ แม่ฮ่องสอน แม่สอดและเลย ต่างก็มีสนามบินมานานแล้วก็ไม่ได้ทำให้จังหวัดเหล่านั้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักได้
ดังนั้น การมีสนามบินก็คงไม่ใช่คำตอบของการยกระดับจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ให้กลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลักได้ หรือเหตุผลที่ว่าเป็นจังหวัดเดียวที่ยังไม่มีสนามบินก็เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้คิดต้นทุนผลได้จากการลงทุนโดยใช้เงินภาษีของราษฎร
ที่จริงเรื่องสนามบินไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ของการท่องเที่ยวของพะเยา เพราะพะเยาอยู่ห่างจากจังหวัดอื่น ๆ ที่มีสนามบินไม่มากนัก เช่น ห่างจากเชียงราย 94 กิโลเมตร ห่างจากลำปาง 134 กิโลเมตร ห่างจากแพร่ 124 กิโลเมตร และห่างจากน่าน 188 กิโลเมตร
สนามบินเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสนามบินที่ยังใช้ไม่เต็มตามความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ดังนั้น หากมีการโปรโมทการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์แบบ Fly-drive ก็จะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ เช่น นักท่องเที่ยวลงเครื่องที่สนามบินเชียงรายไปเที่ยวพะเยา และขึ้นเครื่องกลับที่สนามบินลำปาง หรือบินลงน่าน แล้วเที่ยวพะเยา และขึ้นเครื่องกลับที่แพร่ก็ได้
ลองมาดูในรายละเอียดว่าพะเยายังต้องการการพัฒนาในด้านใดบ้างที่ตรงกับศักยภาพและความต้องการที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ ในด้านความดึงดูดใจด้านทรัพยากรธรรมชาติพะเยาอยู่ในลำดับที่ 39 นับเป็นปัจจัยที่โดดเด่นที่สุดของพะเยา
ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับที่ 74 คือ มีจำนวนบริษัทนำเที่ยว โรงแรมและจำนวนห้องพักที่ได้มาตรฐานสูงน้อยมาก มีความพร้อมด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตและการเงินต่ำ นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ร้านสะดวกซื้อและร้านกาแฟค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับเชียงรายซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็นเมืองรองเหมือนกัน
ส่วนคุณภาพสิ่งแวดล้อม พะเยาก็เหมือนจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีปัญหาด้านมลพิษฝุ่นละออง คุณภาพของแม่น้ำอยู่ในลำดับต่ำ ส่วนด้านความปลอดภัยก็มีอุบัติเหตุทางถนนสูง มีจำนวนคดียาเสพต่อประชากร 1,000 คนสูงมาก และยังมีอัตราเกิดโรคติดต่อต่อประชากรอยู่ในลำดับกลาง ๆ ลำดับที่ 38
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ยังมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่ำ แต่พะเยามีกว๊านพะเยาอันกว้างใหญ่และสวยงามจึงมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นเมืองพักผ่อนหรือเมืองที่ใช้เป็นที่เก็บตัวนักกีฬา เมืองแห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เมืองของนักท่องเที่ยวที่มาพักทำงาน (nomad tourism)
หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นเมืองสปอร์ตและเมืองเวลล์เนสก็ยังได้ แต่ขณะนี้พะเยายังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับการพัฒนาท่องเที่ยวในด้านนี้อย่างเพียงพอ ควรเก็บพื้นที่ติดกับกว๊านให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ปลูกต้นไม้จัดพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ มีลู่วิ่ง ถนนคนเดิน และถนนสำหรับจักรยาน มีเส้นทางการวิ่งเพื่อสุขภาพ (fitness track)
โดยถนนรอบกว๊านก็ไม่ควรเป็นถนน 4 เลนเพราะจะทำให้ไม่มีความสงบ แต่ควรจะแบ่งแยกเส้นทางให้ชัดเจนระหว่างถนนรอบกว๊านสำหรับคนเดิน คนวิ่ง รถจักรยาน มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ รัฐบาลควรจะลงทุนในโรงพยาบาลและศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น และเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการรองรับนักท่องเที่ยวด้วย
ผู้เขียนเสนอว่าควรเอาเงินที่จะลงทุนสร้างสนามบิน และรายงาน EIA มาออกแบบเมือง การใช้ที่ดินและภูมิทัศน์รอบกว๊านให้มีความสุนทรีย์และเหมาะสม
ส่งเสริมให้มีพื้นที่ทำกิจกรรมส่วนรวมริมกว๊านและนำมาสร้างที่พักแบบเต็นท์หรือสำหรับรถบ้านใกล้ ๆ กว๊าน แต่ควรห่างจากกว๊านไม่ต่ำกว่า 200 เมตร ให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นเมืองน่าอยู่ของคนพะเยาและเป็น เมืองน่าเที่ยวด้วย
การลงทุนเหล่านี้จะดึงภาคเอกชนให้ตามมาทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เช่นในด้านกีฬา เช่น ค่ายมวย กีฬาทางน้ำ การจัดกิจกรรมวิ่ง แข่งขันตกปลา และปั่นจักรยาน ทั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ในเบื้องต้นแก่คนทุกภาคส่วนมากกว่าลงทุนสร้างสนามบิน เพราะในการพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรองในเบื้องต้นต้องอาศัยรถยนต์หรือ motor tourism
ยิ่งกว่านั้นควรจะปรับปรุงถนน ส่งเสริมให้เอกชนสร้างที่พักริมทางระหว่างเส้นทางเพื่อให้บริการห้องน้ำ ภัตตาคาร ร้านขายอาหาร และร้านกาแฟ นอกจากนี้ ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในเส้นทางเชื่อมห้วยโก๋นจากชายแดนลาวมายังพะเยาและเชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงที่เด่นชัย จังหวัดแพร่มายังพะเยา
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พะเยาจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดให้เร็วขึ้น มีการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงกว่า และจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้เร็วขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่รู้จัก สนามบินพะเยาจะเป็นเรื่องตามมาค่ะ