เปิดเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้ใช้เงินวันไหน?
เปิดเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 5 แสนล้านบาท ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ได้ใช้เงินวันไหน? กลุ่มเป้าหมายเข้าเกณฑ์รับเงิน ร้านค้าร่วมโครงการ ซื้อของ ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง พร้อมแจงแหล่งเงิน งบประมาณที่ใช้
คืบหน้า! ประชาชนรอมานานสำหรับความหวัง "แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต" 10,000 บาท กับคำถามได้ใช้เงินวันไหน? กลุ่มเป้าหมายเข้าเกณฑ์รับเงิน ร้านค้าร่วมโครงการ ซื้อของ ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง พร้อมแจงแหล่งเงิน งบประมาณที่ใช้ เช็กที่นี่
เปิดเงื่อนไขโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต Digital Wallet ซึ่งนายกเศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ที่ได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย
รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้
โดยมีเงื่อนไขโครงการฯ ที่สำคัญ ซึ่งที่ประชุมคกก.โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังนี้
เปิดเงื่อนไขเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้ใช้เงินวันไหน?
ใครได้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทบ้าง โดยกลุ่มเป้าหมาย คือประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีหลักเกณฑ์ ได้แก่
- ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
- มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน – ใช้ได้ที่ไหนบ้าง?
- ใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า ในพื้นที่ระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
- ใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ
ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT)
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
เงื่อนไขการซื้อสินค้า มีอะไรบ้าง?
- สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข, น้ำมัน, การบริการและซื้อของออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพิ่มเติม
ระยะเวลาดำเนินการ - ลงทะเบียนได้เมื่อไร..แล้วเริ่มใช้เงินได้วันไหน?
- ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567
- เริ่มใช้จ่ายได้ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
ระบบที่จะใช้งาน?
- ใช้งานผ่านระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นในลักษณะ Super App ซึ่งจะพัฒนาให้ใช้กับธนาคารอื่น ๆ ได้
แหล่งเงิน งบประมาณที่ใช้ มาจากไหน?
เงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 500,000 ล้านบาท เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่
1.) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว
2.) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568
3.) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท
ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1- 3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท
การดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินตรา โดย ณ วันที่เริ่มโครงการช่วงปลายปีจะมีเงิน 500,000 ล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือการใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันเรื่องแหล่งเงินและความมั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
ความจำเป็นในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 500,000 ล้านบาท
1.) เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
2.) เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังจากช่วงโควิด19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน
โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด