ผวา ‘ภาคอุตสาหกรรม’ ทรุด ฉุด GDP ไตรมาส 1 ต่ำกว่า 0.8%
MPI ติดลบ 18 เดือน ส.อ.ท. ชี้แรงกดดันจากภูมิรัฐศาสตร์ สู้คู่แข่งไม่ได้ อุปสรรคใหญ่ต่อการลงทุนเพิ่ม “นักเศรษฐศาตร์” ชี้สะท้อนเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ “เคเคพี” หวั่นฉุดเศรษฐกิจครึ่งแรกโตต่ำกว่าเป้าหมาย “ซีไอเอ็มบีไทย” คาดภาคผลิตไม่ฟื้นกดจีดีพีไตรมาสแรกต่ำกว่า 0.8%
ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยถูกท้าทายเมื่อผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39%
ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 60.45%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยเผชิญความท้าทายและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้การผลิตและการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง ซึ่งการส่งออกไทยเดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัวถึง 10.9%
ขณะที่การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัว 0.2% มูลค่าส่งออก 70,995 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทยอยฟื้นตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่หดตัวถึง 3.3%
ทั้งนี้ ส.อ.ท.พิจารณาสาเหตุหลักที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ซึ่งปัจจัยภายนอกประกอบด้วย
1. ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (อิสราเอล-กลุ่มฮามาส และอิสราเอล-อิหร่าน) และสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้ง
2. สินค้าจีนเข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนและตลาดหลักในภูมิภาคที่เป็นคู่ค้ากับไทย และส่งผลกระทบต่อสินค้าไทย โดยช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวหลายตลาด โดยเฉพาะอาเซียน ตะวันออกกลาง และเอเซียใต้
3. สงครามในเมียนมา ทำให้การค้าชายแดนหดตัวลง การค้าชายแดนช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่ารวม 54,734 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัว 11.21% แบ่งเป็นไทยส่งออก 31,623 ล้านบาท หดตัว 9.57% และไทยนำเข้า 23,110 ล้านบาท หดตัว 13.35%
4. อุปสงค์จากต่างประเทศได้รับแรงกดดันจากประเทศเศรษฐกิจหลักในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะสหรัฐอาจกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งหลายประเทศต้องติดตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ
5.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของสหภาพยุโรป ซึ่งกระทบภาคอุตสาหกรรมไทย
สินค้าไทยไม่ได้รับความนิยมมากพอ
ส่วนปัจจัยภายในประเทศที่กระทบภาคอุตสาหกรรมไทย แบ่งเป็น
1. สินค้าส่งออกไม่ได้รับความนิยมเหมือนอดีตและมีประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้าส่งออกไม่แตกต่างกัน รวมถึงไทยไม่มีสินค้าใหม่ เช่น สินค้ากลุ่มไฮเทคที่ส่งผลให้ไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และฮาร์ดดิสก์
2. ต้นทุนการผลิตอยู่ระดับสูงทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมัน ทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ โดยค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย (งวด พ.ค.-ส.ค.2567) และต้นทุนการเงินอยู่ระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เดือน มี.ค.2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.30-7.57% ต่อปี ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินในการประกอบกิจการ
หนี้ครัวเรือนสูงฉุดกำลังซื้อ
3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3% ต่อ GDP หรือ 16.36 ล้านล้านบาท และความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน กดดันกำลังซื้อสินค้ากลุ่มยานยนต์ โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในไตรมาส 1 ปี 2567 รวม 414,123 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 18.45% ยอดขายในประเทศ 163,756 คัน ลดลง 24.56% และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 270,525 คัน ลดลง 1.16%
“การผลิตขายในประเทศลดลงปัจจัยมาจากรถกระบะและรถยนต์นั่งลดลงตามยอดขายที่เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมไปถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยยังไม่มาก เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางบริษัทยังไม่พร้อม”
4. การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ด้านงบลงทุนภาครัฐล่าช้าช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณที่เบิกจ่ายรวม 1.57 ล้านล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 12.5% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1.38 ล้านล้านบาท ลดลง 4.8% และรายจ่ายลงทุน 92,297 ล้านบาท ลดลง 60.3% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 90,051 ล้านบาท ลดลง 12.9% กระทบสินค้าวัสดุก่อสร้างให้ชะลอตัวลง
5. สภาพภูมิอากาศที่ร้อนจากเอลนีโญส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและคลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น ทำให้ผลผลิตเกษตรลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาลม์น้ำมัน รวมถึงผลไม้ อาทิ มะม่วง ทุเรียน สับปะรด ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรม
สินค้านำเข้าแย่งตลาดในประเทศ
6. ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้าไทยโดยเลี่ยงการสำแดง ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก ส.อ.ท.ได้รับผลกระทบ 20 กลุ่มจากทั้งหมด 46 อุตสาหกรรม หากปล่อยไว้จะทำให้เอสเอ็มอีปิดกิจการ ปิดไลน์การผลิต หันไปนำเข้าแทน และหากปีนี้แก้ไม่ได้จะกระทบกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น 30 กลุ่ม
ทั้งนี้ เพื่อบรูณาการแก้ไขสินค้าด้อยคุณภาพทั้งระบบ รัฐบาลควรปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (ฟรีโซน) เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร สนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพตรวจสแกนสินค้าเพื่อให้อัตราการสุ่มตรวจมากกว่า 70% เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ
“ฝากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังเร่งปิดจุดรั่วเข้มงวดการสำแดงสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เพราะแม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่แต่ถ้าไม่ปิดจุดรั่วจะไม่มีผล และกระทบถึงคำสั่งผลิตในประเทศไม่ดีขึ้น เพราะผู้บริโภคซื้อสินค้าราคาถูกและไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีต้องปิดโรงงาน หากไม่ปิดช่องโหว่ตรงนี้" นายเกรียงไกร กล่าว
โครงสร้างอุตฯไทยฉุดการลงทุนใหม่
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมของผู้ประกอบการ โดยภาพรวมอุตสาหกรรมไทยเผชิญความท้าทายและข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจกระทบการลงทุนภาคการผลิต โดยเฉพาะสินค้าส่งออกไทยที่ไม่ได้รับความนิยมและมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้ายังไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก
ทั้งนี้ คำขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปี 2566 มี 2,307 โครงการ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 16% มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43%
รวมทั้ง BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 2,383 โครงการ เพิ่มขึ้น 53% และมีมูลค่าเงินลงทุน 750,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% ซึ่งอยู่ในทิศทางที่ดีและเป็นการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจในอนาคต
สินค้าจีนแย่งตลาดกดกำลังการผลิต
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การผลิตที่ลดลงมีหลายเรื่องโดยเฉพาะตลาดส่งออกไม่ดี จะเห็นว่าส่งออกที่ดีกลายเป็นสินค้าเกษตรกรรม ถือเป็นปัจจัยมาจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมถดถอย ตลาดส่งออกหลักทั้งสหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐ, จีนและญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนประเทศละเกิน 10% รวมกว่า 40% ไม่ดีขึ้น
สำหรับตลาดจีนนำเข้าจากไทยเฉพาะสินค้าเกษตร ส่วนตลาดอาเซียนเฉลี่ย 24% ก็โดนสินค้าจีนเข้าไปแย่งตลาด เมื่อรวมสัดส่วนกว่า 60% ที่เป็นปัจจัยให้ยอดผลิตลดลง
นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต่างไม่ได้มองดีมานด์ไทยเพราะมีประชากรเพียง 70 ล้านคน และเป็นสังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2562 ไม่เหมือนอินโดนีเซียหรือเวียดนามที่ประชากรเยอะ
ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างและหากจะเป็นศูนย์กลางการผลิตต้องให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอี เพราะหลายประเทศมีสัดส่วนเศรษฐกิจ 70% ของ GDP มาจากเอสเอ็มอี แต่เอสอ็มอีไทยไม่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้แท้จริง
“อยากให้ไทยศึกษาองค์กรบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐ (SBA) ที่แก้ปัญหาเอสเอ็มอีทั้งระบบ และรีบเข้าช่วยเหลือทันที ซึ่งนักวิชาการบ้านเราก็ได้ยกตัวอย่างมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เห็นภาครัฐทำอย่างจริงจังสักที” นายมนตรี กล่าว
ดีมานด์โลก-โครงสร้างไทยมีปัญหา
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า กรณีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบติดต่อกันถึง 18 เดือน กระทบเศรษฐกิจไทยมากเพราะภาคการผลิตเป็น 1 ในตัวหลักของจีดีพี โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าลดลง เช่น การผลิตรถยนต์ชะลอตัวลงจากยอดขายลดลงที่เป็นหนึ่งตัวที่กดดันทำให้ภาคการผลิตโดยรวมชะลอตัว
นอกจากนี้ ภาคการผลิตที่ติดลบติดต่อกันมาจากปัญหาเชิงโครงรสร้างของไทยที่ความต้องการ (ดีมานด์) ลดลง และสินค้าไทยไม่ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป เช่น ฮาร์ดิสไดร์สที่ความต้องการลดลงแม้เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมา ดังนั้น จากปัญหาโครงสร้างจากสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์โลก อาจทำให้ไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นไม่ได้มากนัก
“การผลิตที่ชะลอตัว เรามองว่าเดี่ยวข้างหน้าจะทยอยดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา ตอนนี้หากดูการผลิตโลกพบว่าบางเซกเตอร์กลับมาได้แล้ว เช่นเซมิคอนดักเตอร์ อย่างในไต้หวัน เกาหลี แต่สินค้าไฮเทคเหล่านี้เราไม่มี ทำให้การฟื้นตัวในภาคการผลิตของไทยยังฟื้นตัวได้ช้า”
ทั้งนี้ จากภาคการผลิตที่ชะลอตัวต่อเนื่องอาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้ลดลงเช่นกัน โดยคาดเศรษฐกิจไตรมาสแรกอาจต่ำกว่า 1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้น ตราบใดที่ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวก็มีโอกาสฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง
“เราเชื่อในไตรมาส 3-4 ฟื้นตัวดีกว่าไตรมาส 1-2 ปีนี้ เพราะมีคีย์สำคัญจาก พ.ร.บ.งบประมาณที่ยังไม่ผ่าน และเพิ่งมาเริ่มเบิกจ่ายได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ หากมองไปข้างหน้าดีมานด์ก็ยังไม่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ สินค้าคงทนที่จะเป็นตัวฉุดรั้งช่วงครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังอาจดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังต้องเติบโตได้ระดับ4% ซึ่งจีดีพีทั้งปีถึงเป็นไปตามประมาณการณ์ของเราที่ 2.6%”
หวั่นไตรมาสแรก ‘จีดีพี’ ต่ำกว่า 0.8%
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาคการผลิตไทยที่ติดลบต่อเนื่องเป็นตัวสะท้อนเศรษฐกิจไทยอย่างดี ว่าอยู่ระดับอ่อนแอต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตไทยที่ติดลบต่อเนื่อง มี 2ข้อสังเกต คือ ภาคการผลิตยังไม่กลับมาฟื้นตัวตามตลาดโลกที่ชัดเจนได้
นอกจากนี้ ยังมาจากผู้ประกอบการของไทยยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ เพราะอาจมีปัญหาจากการขาดสภาพคล่อง ทำให้อยู่ระหว่างการเร่งระบายสต็อก ไม่มีการผลิตเพิ่ม
ดังนั้น น่าห่วงเพราะหากภาคการผลิตยังไม่สามารถกลับมาได้ อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าให้อ่อนแออย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ที่คาดว่าอาจมีโอกาสเห็นจีดีพีของไทยต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งที่เดิมคาดเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น