เปิดเหตุผล ครม.ชิงเคาะไทม์ไลน์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศ ก.ย.-ต.ค.67

เปิดเหตุผล ครม.ชิงเคาะไทม์ไลน์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศ  ก.ย.-ต.ค.67

เปิดเหตุผล ครม. เคาะไทม์ไลน์จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ!  มีผล กันยายน-ตุลาคม นี้ แรงงานเสนอเหตุผลค่าครองชีพปรับตัวสูง น้ำมัน ราคาสินค้าปรับเพิ่ม แรงงานเจอปัญหาเศรษฐกิจ ระบุมีเวลาในการจัดทำข้อมูลหารือกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

KEY

POINTS

  • ครม.สัญจรจ.เพชรบุรี ไฟเขียวไทม์ไลน์ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ ก.ย.-ต.ค. 2567
  • เหตุผลหลักที่เสนอ ครม.ระบุเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูง ส่วนแรงจูงใจทางการเมืองมาจากนโยบายหาเสียงของรัฐบาล
  • ภาคเอกชนที่คัดค้าน และขอให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ 

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครม.สัญจรภาคกลางตอนล่าง 2 ที่จ.เพชรบุรี ได้มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอซึ่งมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.2567 โดยจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสาเหตุสำคัญในการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้นอกจากเหตุผลทางด้านการเมืองที่รัฐบาลต้องการขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้หาเสียงไว้ ยังมีเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจด้วยโดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานได้รายงาน ครม.ถึงสาเหตุที่มีการเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวันว่า

“สืบเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงานมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นหรือมีการปรับลดขนาดหรือปริมาณลง จึงสมควรที่จะทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567

เพื่อให้การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสม เป็นธรรม อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศหรือมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ กระทรวงแรงงานจึงมีแนวทางการดำเนินการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศโดยมีการจัดทำไทม์ไลน์ที่แน่นอนให้ทุกฝ่ายรับทราบร่วมกัน”  

สำหรับรายละเอียดสำคัญของมติ ครม.ในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้รายงานดังนี้

ตามที่ ครม. เคยมีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2566 กำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยแบ่งเป็น 17 อัตรา อยู่ระหว่าง 330-370 บาทต่อวัน ในกรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัด

ครม. ยังมีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม ลงวันที่ 27 มีนาคม 2567 กำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 สำหรับพนักงานโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ใน 10 จังหวัดนำร่อง ปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน (เพิ่มขึ้น 30-55 บาทต่อวัน แล้วแต่พื้นที่)

ไทม์ไลน์ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

ส่วนแนวทางการดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศดำเนินการดังนี้

1.สำรวจค่าใช้จ่าย: สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม (เมษายน-มิถุนายน 2567)

2.หารือผลกระทบ: ประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกับภาคเอกชน (พฤษภาคม 2567) กำหนดกรอบแนวทาง: สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567)

 

3.เสนอประกาศ: สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ (กันยายน-ตุลาคม 2567)

และ 4.คาดว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท จะมีผลบังคับใช้ในช่วง เดือนกันยายน - ตุลาคม 2567

เอกชนค้านขึ้นค่าแรง

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศได้รับแรงคัดค้านจากภาคเอกชน โดยเหตุผลของภาคเอกชน นำโดยสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการค้าปลีกไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมเอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงาน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท เสนอให้พิจารณาตามความพร้อมของแต่ละภาคธุรกิจ

โดยเหตุผลการคัดค้านโดยสรุปดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง
  • ผู้ประกอบการหลายรายยังฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19
  • การขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า
  • อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
  • ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) อาจแบกรับภาระไม่ไหว
  • อาจส่งผลต่อการเลิกจ้างงาน

ข้อเสนอแนะของภาคเอกชนในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

  • พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามความพร้อมของแต่ละภาคธุรกิจ
  • เน้นการช่วยเหลือ SMEs
  • พัฒนาทักษะแรงงาน
  • ส่งเสริมการปรับตัวของภาคธุรกิจอย่างเป็นขั้นตอนก่อนปรับขึ้นค่าแรง