ส.อ.ท. หวั่นปรับขึ้นค่าจ้างฉุดดัชนีร่วง วอนคุมต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้
"ส.อ.ท." ยืนยันค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ชี้ หวั่นซ้ำเติม "เอสเอ็มอี" ที่ถูกซ้ำเติมจากความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 67 ยู่ที่ระดับ 90.3 ลดลงจาก 92.4 ในเดือนมี.ค. 67 บวกราคาพลังงานดันต้นทุนพุ่ง 40% หากปรับค่าแรงเพิ่มจะส่งผลกระทบถึงต้นทุนอีก 20%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน
ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ส่งผลให้การผลิตสินค้าลดลง ด้านการส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนยังมีปัจจัยบวกจากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นจากภาวะขาดแคลนอาหารและปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีภาระหนี้ยังได้รับผลดีจากการที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย (MRR) ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ตามคำร้องขอของนายกรัฐมนตรี
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,268 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนเมษายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 79.4 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 56.6 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 56.4 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 40.2 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 39.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 68.5 ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลง จาก 100.8 ในเดือนมีนาคม 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรวมถึงสงครามรัสเซีย - ยูเครน กดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1. เสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและลดภาระค่าครองชีพ เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ SMEs รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
2. เสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากภาคการผลิตยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
3. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการดำเนินการตามแนวคิด ESG รวมทั้งการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงเงินกู้ Green loan ให้ง่ายขึ้น อุดหนุนค่าใช้จ่ายที่นำไปลงทุนเทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดค่าธรรมเนียมรับรองคาร์บอนเครดิต 50% ในปี 2567 เป็นต้น
"ผู้ประกอบการเจอกับวิกฤติราคาพลังงานดันต้นทุนที่พุ่งสูงระดับ 20-40% อยู่แล้ว หากปรับค่าแรงเพิ่มจะส่งผลกระทบถึงต้นทุนอีก ระดับ 20% ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง"