‘ภูเก็ต’ ไม่ได้ต้องการสนามบินแห่งที่ 2 แต่ต้องการแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
"ภูเก็ต" เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภาครัฐมีแผนที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นทั้งสนามบินแห่งใหม่ และทางด่วน เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยววที่มากขึ้น หากแต่ในมุมมองเอกชนที่คร่ำหวอดและพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตมายาวนาน มองว่าสิ่งสำคัญในอนาคตคือการพัฒนาให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
หากพูดถึง “ภูเก็ต” ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกาะแห่งนี้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวปีละหลายล้านคน ได้รับรางวัลการท่องเที่ยวระดับโลกมาแล้วมากมาย
นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางลงไปภูเก็ตถึง 4 ครั้งในตลอดช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ทุกครั้งจะเน้นไปที่การสั่งการเร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคม ปรับปรุงถนนหนทาง เร่งรัดโครงการขนาดใหญ่เช่น ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง รวมทั้งโครงการสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการท่องเที่ยวภูเก็ตในอนาคต
แม้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นสูตรสำเร็จการพัฒนาเมืองตามนโยบายของรัฐบาล แต่หากฟังจากมุมมองจากบุคคลที่คลุกคลีและมีประสบการณ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในภูเก็ตมายาวนานอย่าง “คุณวิจิตร ณ ระนอง” กรรมการผู้จัดการ The Slate ในฐานะผู้ก่อตั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กลับมองว่าสิ่งสำคัญมากกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคือการทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างยั่งยืน
คุณวิจิตรบอกว่าในปี 2566 ภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 9 ล้านคน แม้ในแง่ของจำนวนของนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน แต่ว่าในแง่ของรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นกลับมาเท่ากับช่วงของโควิด-19 แล้ว
จำนวนนักท่องเที่ยวจึงไม่ใช่คำตอบ แต่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวคือหัวใจ ภูเก็ตถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ และสามารถเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่ไม่ต้องการนักท่องเที่ยวในปริมาณมากแต่ต้องการนักท่องเที่ยวที่มีกำลังในการใช้จ่ายเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้
คุณวิจิตรขยายความด้วยว่าจุดขายของภูเก็ตนั้นไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่สวยงาม ชายหาด น้ำทะเล เกาะแก่งที่สวยงามระดับโลกเท่านั้น แต่เสน่ห์ของภูเก็ตยังมีมิติของประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมจากอดีตอันเรืองรองของ “เหมืองแร่ดีบุก” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของเมืองและผู้คนด้วย ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ปะปนอยู่กับวิถีชีวิต อาหาร หรือแม้แต่สิ่งปลูกสร้างสไตล์ชิโนยูโรเปียน ที่อยู่ในย่านชุมชนเก่าในเมืองภูเก็ตก็มีสตอรี่และเป็นจุดขายได้เป็นอย่างดี
ทิศทางในอนาคตของการพัฒนาท่องเที่ยวภูเก็ตนั้นจึงต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก การท่องเที่ยวแบบ “Mass Tourism” นั้นไม่ได้เหมาะกับพื้นที่เกาะอย่างภูเก็ต เพราะการมีนักท่องเที่ยวมากเกินไปจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการตามมาไม่น้อยเช่นกัน
โอกาสของภูเก็ตนั้นอยู่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง “Wellness tourism” รวมทั้งการส่งเสริมให้เป็นเมืองสำหรับการจัดการประชุมและสัมมนาเป็น "Convention City” มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานสากลจะทำให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามามากขึ้น และเพิ่มดีมานต์การท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่นได้เป็นอย่างดี
การมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีทิศทางจะส่งเสริมการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้สามารถเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างยั่งยืน