'จุลพันธ์' ถก 3 กรมภาษี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนใช้เงินดิจิทัลปลายปี

'จุลพันธ์' ถก 3 กรมภาษี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนใช้เงินดิจิทัลปลายปี

"จุลพันธ์" ถก 3 กรมจัดเก็บภาษี เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เล็งเจาะกลุ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจมาก ก่อนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เริ่มเข้าระบบปลายปีนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เข้าพบ และมอบนโยบายการทำงานให้กับ 3 กรมภาษี ภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร 

โดยได้มอบหมายให้กรมจัดเก็บภาษีนำเสนอมาตรการทางภาษีที่จำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ก่อนจะนำไปพิจารณาเสนอต่อในที่ประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป z

"ส่วนมาตรการภาษีที่จะนำมาใช้จะเป็นอย่างไร คงต้องพิจารณาเซกเตอร์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด หรือกลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ แต่อย่างไรก็ตามด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันพบว่ามีความอ่อนไหวอยู่หลายภาคส่วน ทั้งภาคการผลิตและเกษตร จึงต้องกลับมาดูในรายละเอียดอีกครั้งว่ามีข้อเสนอหรือกลไกใดที่จะมีความเหมาะสมที่สุด"

 

ทั้งนี้ มาตรการภาษีที่จะออกมาจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ในกรอบระยะเวลา 5-6 เดือนก่อนที่เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเข้าสู่ระบบในช่วงปลายปี

นอกจากนี้ โจทย์ที่ได้พูดคุยกับผู้บริหารทั้ง 3 หน่วยงาน เหมือนกันคือ การวางแนวนโยบายในการขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ลดการใช้ดุลยพินิจ รวมทั้งการป้องกัน และอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดการรั่วไหล

ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำว่าจะต้องสร้างระบบการชำระภาษีที่ง่าย และสะดวกในการดำเนินงาน (Ease of Doing Business) ทั้งกับประชาชน และภาคธุรกิจให้มีประสบการณ์ที่ดีซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกในการจัดเก็บ และขยายฐานภาษีต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้วางแผนแนวนโยบายกลไกภาษีระยะยาว ซึ่งจะมีผลในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องไปกับนโยบายของรัฐที่สำคัญ อาทิ นโยบาย ESG การลดฝุ่น PM2.5 การส่งเสริม และช่วยเหลือด้านสาธารณสุข และผู้สูงอายุ รวมทั้งการสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

สำหรับเรื่องการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และไม่มีผลต่อการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

"ทั้งนี้บางหน่วยงานอาจจัดเก็บรายได้เกินเป้าก็เป็นการชดเชยกันไป ส่วนกรมสรรพสามิตซึ่งประเมินแล้วว่าทั้งปีจะจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการ ก็เข้าใจได้ เพราะรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการลดภาษีน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน"

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า การจัดเก็บภาษีจะต้องมองภาพในระยะยาวให้สอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณในระยะข้างหน้าด้วย ซึ่งในปี 2567 ประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.78 ล้านล้านบาท ก็เป็นการจัดเก็บที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว

ส่วนปีหน้าและปีถัดไปจะไปถึงเป้าหมายอย่างไรนั้น อยู่ที่การทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ 2.5% ในปีนี้ ก็จะเกิดการหมุนของเม็ดเงินในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และวนกลับมาเป็นรายได้รัฐที่มากขึ้นด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์