“เศรษฐกิจไทย” ป่วยซึมลึก สะเทือนพื้นฐานค่าเงินบาท
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่คาดไว้ แต่สำนักวิจัยทั้งหลายกลับปรับลดคาดการณ์ขยายตัวในปีนี้ลง บางส่วนมองว่าการลงทุนและการบริโภคอาจหดตัวลงอีก รวมถึงภาคการผลิตยังอ่อนแอต่อเนื่อง
เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 ออกมาดีกว่าที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ แต่สำนักวิจัยหลายแห่งต่างพากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปีนี้ลง ...น่าคิดว่า “เกิดอะไรขึ้น?” ก็ในเมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเติบโตได้ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าตัวเลขประมาณการที่ 0.8% เกือบเท่าตัว แทนที่สำนักวิจัยเหล่านี้จะปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปีนี้เพิ่ม แต่กลับปรับลดลง!
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นหนึ่งในสำนักวิจัยที่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาเหลือเติบโต 2.6% จากคาดการณ์เดิม 2.8% โดยให้เหตุผลว่า แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไส้ในพบว่ามีความเปราะบางสูงมาก โดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาครัฐที่แนวโน้มหดตัวสูงกว่าคาด แม้ว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการเร่งเบิกจ่ายได้ก็ตาม ขณะที่การส่งออกพบสัญญาณว่าอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ที่สำคัญ “ภาคการผลิตไทย” อ่อนแอลงต่อเนื่อง จากทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวและอุปสงค์นอกประเทศซึ่งฟื้นตัวช้า ที่สำคัญไทยยังเผชิญปัญหาการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนด้วย
ตัวหลักๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางซึมลึกเหมือนคนเป็น Long Covid คือ “ภาคการผลิต” ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างกับเรื่องนี้มานานตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยบทวิเคราะห์ของ KKP Research ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วนเริ่มกลับมาอยู่ในจุดใกล้เคียงก่อนโควิดแล้ว (แม้จะใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นก็ตาม) แต่ภาคการผลิตไทยยังมีปริมาณการผลิตที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด คิดเป็นกว่า 66% ของมูลค่าเพิ่มในการผลิตทั้งหมด
ด้วยการฟื้นตัวที่ช้ามากของภาคการผลิตนี้เอง กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ สะท้อนผ่านสัญญาณการ “ปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม” ที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับระดับปกติ ส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงานและการบริโภคที่เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ความอ่อนแอเหล่านี้กำลังกระทบไปยังพื้นฐานของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มว่า หลังจากนี้อาจมีทิศทางการอ่อนค่าลงมากกว่าในอดีตด้วย
บทวิเคราะห์ของ KKP ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยที่อ่อนแอลงต่อเนื่อง กำลังทำให้ไทยเผชิญปัญหา “ดุลการค้า” ที่แย่ลงมากขึ้น เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเพื่อมาบริโภคในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงค่าเงินบาทระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงกว่าในอดีต ...ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยบางส่วนยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ดูเหมือนจะหนักขึ้นกว่าเดิม และเริ่มส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น เราเห็นว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องจับมือกันให้แน่นเพื่อปลดล็อกปัญหาเหล่านี้ก่อนที่จะสายเกินแก้!