“FDI”โลกเปลี่ยน“UN”แนะเลิกอัดสิทธิประโยชน์ดึงลงทุนมุ่งFTA-เขตศก.พิเศษ

“FDI”โลกเปลี่ยน“UN”แนะเลิกอัดสิทธิประโยชน์ดึงลงทุนมุ่งFTA-เขตศก.พิเศษ

เปิดรายงานยูเอ็น พบภูมิทัศน์เอฟดีไอเปลี่ยน ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ทำจีนบทบาทลดลง ขณะแนวโน้มการลงทุนหันมุ่งด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน

พร้อมดึงเทคโนโลยีกระชับห่วงโซ่มูลค่าแนะเลิกอัดสิทธิประโยชน์หันมุ่งนโยบายเชื่อมโยงภูมิภาค  ย้ำเอฟทีเอ-เขตเศรษฐกิจพิเศษจำเป็น

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ คือกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตามข้อมูลของรายการลงทุนโลก ประจำปี 2566 หรือ World Investment Report 2023 จัดทำโดยสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ 

UN Trade and Development : UNCTAD   ระบุว่าประเศไทย มีมูลค่าเงินลงทุนจากเอฟดีไอสะสมที่ 306,163 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ที่มีมูลค่า 2,368,396 ล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซียเป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 262,920 ล้านดอลลาร์ ตามมาติดๆด้วยเวียดนามที่มีมูลค่า 210,471 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย มูลค่า 199,206 ล้านดอลลาร์ 

แม้ว่าในปี2565 ที่ผ่านไป พบว่ามูลค่าการลงทุนของอินโดนีเซียจะโดยเด่นที่ 21,968 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือเวียดนามที่ 17,900 ล้านดอลลาร์ มาเลเซียอยู่ที่ 16,940 ล้านดอลลาร์ และไทยที่ 10,034 ล้านดอลลาร์ ส่วนแชมป์สูงสุดคือ สิงคโปร์ 141,211 ล้านดอลลาร์ 

จากสถิติดังกล่าวกำลังสะท้อนถึงภูมิทัศน์หรือภาพรวามการลงทุนโลกกำลังเปลี่ยนไปจากปัจจัยต่างๆ ทำให้การกำหนดนโยบายด้านการลงทุนของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยต้องปรับตัวเพื่ออยู่ในห่วงโซ่อุปทานการลงทุนโลกต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าเอฟดีไอจากนี้ต้องสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ไทยได้ด้วย 

ร้องเลิกนโยบายอัดสิทธิประโยชน์

UNCTAD ได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด  "Global economic fracturing and shifting investment patterns  หรือ การแตกหักของเศรษฐกิจโลกและการยกระดับรูปแบบการลงทุน " สาระสำคัญส่วนหนึ่ง ระบุถึงการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆดำเนินการทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าประโยชน์จากการลงทุนจะได้รับมานั้นสามารถการกระจายอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การพัฒนาที่ครอบคลุม

      สำหรับคำแนะนำเชิงนโยบาย คือประเทศกำลังพัฒนาต้องทบทวนมาตรการกระตุ้นการลงทุนจากเดิมที่เน้นการให้ความสำคัญกับนโยบายดึงดูดและให้สิทธิประโยชน์ต่อเอฟดีไอมาเป็นการส่งเสริมการลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันยกระดับความร่วมมือจากทั่วโลกและภูมิภาคให้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปิดกว้างและเป็นธรรมมากขึ้น 

แนวโน้มในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกและพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังขับเคลื่อนให้ความยั่งยืนเป็นหนึ่งเดียวกับกลยุทธ์ด้านการลงทุน ดังนั้นการกำหนดนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนก็ต้องปรับไปตามเทรนด์นี้ด้วย  เพราะการผลิตทั่วโลกกำลังอัพเกรดวิธีการผลิต และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

เอฟดีไอสนใจลงทุนในจีนน้อยลง

อย่างไรก็ตาม รายงานได้ย้ำถึงภูมิทัศน์ของเอฟดีไอว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากบทบาทที่ลดลงของจีนในฐานะประเทศผู้รับเอฟดีไอเพราะบริษัทข้ามชาติแสดงความกระตือรือร้นในการลงทุนใหม่ๆ ในจีนลดลง

“รายงานเตือนว่าการตัดสินใจลงทุนในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์บ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็อยู่เหนือปัจจัยกำหนดทางเศรษฐกิจ ทำให้แนวทางมาตรฐานในการส่งเสริมการลงทุนมีความซับซ้อน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเอฟดีไอ ก็ยังพบว่าประเด็นความยั่งยืนนั้นประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กมองข้ามเรื่องเหล่านี้ ทำให้โอกาสที่จะได้รับการลงทุนจากต่างประเทศลดน้อยลงไปอีก  ทั้งที่แนวโน้มการลงทุนเอฟดีไอจากนี้จะมีอัตราขยายตัวได้ดีในกลุ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมแม้จะไม่สามารถชดเชยภาพรวมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่

โควิด-19   ยิ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กมีโอกาสเข้าถึงเอฟดีไอได้น้อยลงแต่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้น 

เทคโนโลยีบีบอัดGVCแคบลง

รายงานชี้ว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อการพัฒนา ห่วงโซ่มูลค่าโลก หรือ GVC กำลังมีการบูรณาการระหว่างประเทศเพื่อ“ประตูทางเข้า” สู่ GVC ซึ่งมุ่งยกระดับการผลิตและกระชับกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สั้นลงซึ่งเอฟดีไอใหม่ๆจะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างดังกล่าวนี้ แต่ในทางกลับกันโครงสร้างนี้จะยิ่งผลักแหล่งลงทุนท่ี่ไม่มีความพร้อมออกไปทุกที 

"ความท้าทายในการปีนบันได GVCประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำมักจะมาจากการขาดความสามารถทางเทคโนโลยีและทุนมนุษย์เพื่อเข้าถึงเอฟดีไอ และ GVC ภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและกลไกเปลี่ยนแปลงรูปแบบเอฟดีไอในขณะนี้ด้วย" 

ดังนั้น เพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้น หลายประเทศกำลังมองหาโอกาสผา่นเครื่องมือทางการค้าใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการเอฟดีไอ เช่น ภาคบริการที่เข้มแข็ง และการร่วมมือกับเพื่อนบ้านเพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าโลกที่เข้มแข็วร่วมกัน 

“หลักๆการดึงดูดการลงทุนจากนี้อาจขายเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกแล้วแต่ต้องขายทั้งภูมิภาคเป็นการเกาะกันไว้ให้แน่นเพื่อทำให้ภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งจะมีความเข้มแข็งมากกว่าแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ความปลอดภัยด้านการลงทุนซึ่งยังเป็นดีมานด์หลักๆของเอฟดีไอ"

เชื่อมโยงภูมิภาคจุดขายใหม่ดึงลงทุน

ทั้งนี้ การเติบโตของห่วงโซ่มูลค่าในรูปแบบภูมิภาคก็ยังสามารถเปิดโอกาสรรับโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของเอฟดีไอและยังกระตุ้นการพัฒนาในระดับท้องถิ่นของแต่ละประเทศได้ด้วย  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในระดับภูมิภาคที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการไหลเวียนข้ามแดนไม่ว่าจะเป็น เงินทุน สินค้า ยังถือเป็นความท้าทายของหลายภูมิภาคอยู่ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

"ความคิดริเริ่มเชิงนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่การบูรณาการระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มขึ้นการไหลเวียนข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคนั้น ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดระหว่างกัน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนและบทบัญญัติการลงทุนที่มีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาค"

โดยเครื่องมือสำคัญที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวคือ ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไม่ใช่แค่จำเป็นต้องมีแต่ต้องทันสมัยและตอบโจทย์ห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ด้วยโดยFTAยุคใหม่ต้องอำนวยความสะดวกการไหลเวียนของข้อมูล ระบบการชำระเงิน และการค้าดิจิทัล รวมถึงข้อกำหนดด้านการลงทุนที่เหมาะสม 

ปัจจัยต่างๆข้างต้นเป็นการเสริมความเเข็งแกร่งของสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้วหากต้องการจะดึงดูดการลงทุน นั่นคือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในที่นี้หมายถึงการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ  (SEZs) ซึ่งอาจต้องเกิดขึ้นบริเวณชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้ด้วย 

ทั้งนี้ขอยกตัวอย่าง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนที่มีความพยายามดึงดูดการลงทุนจากนโยบายต่างๆช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังพบว่า อาเซียนมีสัดส่านเอฟดีไอเพียง 15%ของเอฟดีไอโลกเท่านั้น