ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ไทย 'ครม.เศรษฐกิจ' อย่าลืมขับเคลื่อน 'ภาคส่งออก'

ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ไทย 'ครม.เศรษฐกิจ' อย่าลืมขับเคลื่อน 'ภาคส่งออก'

"ครม.เศรษฐกิจ" ตั้งเป้าให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3% จากเพิ่มการท่องเที่ยว เร่งเบิกจ่ายการลงทุน และเพิ่มการลงทุนแต่ไม่ตั้งเป้าเพิ่มจีดีพีจากภาคส่งออก เผยมองตัวเลขเป้าหมาย 1-2% สูงอยู่แล้ว ห่วงค่าระวางเรือพุ่ง รับงานการเมืองรมว.พาณิชย์มาก กระทบการทำงานเคลื่อนส่งออก

การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของ “รัฐบาลเศรษฐา” ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่พอจับต้องได้ก็คือการออกโครงการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอีวงเงินรวม 5.5 หมื่นล้านบาทที่ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แบ่งเป็นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ (PGS) 11  โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  (บสย.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อ “IGNITE THAILAND” วงเงิน 5 พันล้านบาท ผ่านธนาคารออมสินเพื่อสนับสนุนเงินทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2.ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) และ 3.ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

 

อีกผลงานของ ครม.เศรษฐกิจคือการตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 3% โดยองค์ประกอบที่จะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวจาก 2.4% ตามการประมาณการเดิมของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาอยู่ที่ 3% ได้ ครม.เศรษฐกิจระบุว่าต้องไปผลักดันให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจต่างๆขยายตัวได้เพิ่มขึ้นได้แก่

1.มาตรการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มอีก 1 ล้านคน จากเดิมที่ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้อยู่ที่ 35.7 ล้านคน ตั้งเป้าเป็น 36.7 ล้านคน ซึ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มในจำนวนนี้จะช่วยเพิ่มจีดีพีได้อีก 0.12%

2.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่มี 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณลงทุนปี 2567 และคิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันงบประมาณส่วนนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 41% และปกติจะเบิกจ่ายได้ 60% ของเป้าหมาย แต่ปีงบประมาณนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 0.24%

และ 3.การเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชนผ่านบีโอไอ ซึ่งมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว 8 แสนล้านบาท หากจะเร่งรัดให้ลงทุนจริงปีนี้ 3-4 หมื่นล้านบาท จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้อีก 0.14-0.15%

ส่งออกเพิ่มดันจีดีพีเพิ่ม PMI 

ที่น่าแปลกใจก็คือไม่มีการตั้งเป้าหมายเรื่อง “การส่งออก” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยจาก ครม.เศรษฐกิจปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2567 ขยายตัว 1-2% ที่จริงแล้วหากเพิ่มเป้าหมายการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มจากเป้าหมายปัจจุบัน โดยให้มีมูลค่าการส่งออกทั้งปีเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 0.5% ก็จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสขยายตัวเพิ่มได้มากกว่า 3% โดยหากสามารถตั้งเป้าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้มีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จากปัจจุบันที่การส่งออกอยู่ที่ประมาณ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จะทำให้การส่งออกเฉลี่ยของไทยในปีนี้มีมูลค่ารวมประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้การส่งออกขยายตัวได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกันหากสามารถผลักดันการส่งออกเพิ่มมากขึ้นได้ ก็จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตสินค้าในประเทศ ช่วยให้ภาคการผลิตที่มีปัญหาใช้กำลังการผลิตต่ำ (PMI) กว่า 60% สามารถเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้

เปิดสาเหตุไม่ตั้งเป้าส่งออก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าสาเหตุที่ ครม.เศรษฐกิจไม่ได้มีการนำเรื่องมาตรการการส่งออกเข้ามาอยู่ในเป้าหมายการเพิ่มจีดีพีในปี 2567 ของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าเป้าหมายการส่งออกที่กำหนดไว้ 1-2% นั้นเป็นตัวเลขที่สูงอยู่แล้วในปัจจุบันเนื่องจากการส่งออกไทยเจอกับความท้าทายในเรื่องของต้นทุนและปัญหาการส่งออกที่เจอกับปัญหาความไม่สงบในภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ค่าระวางเรืออยู่ในระดับสูง รวมทั้งสภาะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

ขณะที่การขับเคลื่อนงานของเรื่องการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ แหล่งข่าวยอมรับว่าที่ผ่านมาเรื่องภาวรกิจการส่งออกยังไม่สามารถทำได้เต็มที่มากนัก เนื่องจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์นั้นมีภารกิจค่อนข้างมากโดยเฉพาะภารกิจเรื่องการเมือง

แนะขับเคลื่อนการส่งออกดันเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอแนะแนวทางการเร่งรัดการส่งออกให้รัฐบาล โดยมีสาระสำคัญคือ

1.การลดต้นทุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

2.ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและ

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้ง

เชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า

3.การติดตามเฝ้าระวังการทุ่มตลาดและการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย

4.การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น

ที่สามารถหลีกเลียงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น

5.การสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมของระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรม เป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับ

อนุมัติและรับบัตรส่งเสริมมีการลงทุนจริงโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและ ผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอน กระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนา กำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย

และ 6.ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว ผ่านการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ (LTR) และการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ ยังควรเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญ เช่น  สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก

การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษามาตรฐาน ความปลอดภัยทั้งชีวิตและ ทรัพย์สินของ นักท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ และปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับ นักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากรัฐบาลจะผลักดันให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นจะต้องไม่ลืมภาคส่งออก และควรมีมาตรการขับเคลื่อนการส่งออก การหาตลาดใหม่ เร่งเจรจาการค้า เพื่อให้เครื่องยนต์การส่งออกของไทยเดินหน้าได้เต็มที่และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากขึ้น