“ภูมิธรรม”ถก ทูตญี่ปุ่น ดึงลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ภูมิธรรม หารือ ทูตญี่ปุ่น กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า ผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่ม พร้อมชักชวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องมือแพทย์และพลังงานสะอาด
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ทูตญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและยาวนาน จนเมื่อปี 2565 ได้ยกระดับเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ซึ่งในการพบกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ที่มีอยู่
โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น กล้วยหอมทองไปตลาดญี่ปุ่น โดยปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเกษตรกรไทยทำสัญญาซื้อขายกับผู้นำเข้าญี่ปุ่นเพื่อเตรียมส่งออกกล้วยหอมทองไปตลาดญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 5,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มปริมาณการส่งออกอีกในปีต่อ ๆ ไป
นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนสินค้าน้ำตาลทรายที่ปัจจุบันญี่ปุ่นยังเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง โดยขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคหารือกัน เพื่อนำไปสู่การลดภาษีต่อไป
“ ญี่ปุ่นกับไทยถือเป็นพันธมิตรสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยกว่า 60 ปี ซึ่งผมได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งที่เป็นยานยนต์สันดาปและยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ให้กับญี่ปุ่นต่อไป และยังได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในพื้นที่ EEC สำหรับอุตสาหกรรมชั้นนำอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพ อาทิ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด อีกด้วย”นายภูมิธรรม กล่าว
สำหรับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นที่น่ายินดีที่ญี่ปุ่นได้รับจดทะเบียนสินค้า GI ของไทยไปแล้ว 2 สินค้า ซึ่งสับปะรดห้วยมุ่นเป็นสินค้าต่อไปที่คาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนในเดือนสิงหาคม ศกนี้ โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะต่อเนื่องความร่วมมือในการคุ้มครอง GI ของทั้ง 2 ประเทศ ต่อไป
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความยินดีที่ประเทศหุ้นส่วนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด -แปซิฟิก หรือ IPEF ได้ร่วมสรุปความตกลงฯ ในเสาที่ 2 เรื่องห่วงโซ่อุปทาน เสาที่ 3 เรื่องเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาที่ 4 เรื่องเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นพร้อมร่วมผลักดันในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในเสาที่ 1 เรื่องการค้า ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วต่อไป
โดยญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบ IPEF ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทย ญี่ปุ่น และประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยในช่วง 4 เดือนของปี 2567 (ม.ค. – เม.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 17,110.98 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 7,566.16 ล้านดอลลาร์ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 9,544.83 ล้านดอลลาร์
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังญี่ปุ่น ได้แก่
- รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- ไก่แปรรูป
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
- เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
- เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
- ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
- เคมีภัณฑ์ เป็นต้น