พื้นที่ EEC โอกาสทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการ Cybersecurity
พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พื้นที่ EEC) เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลมากที่สุด
ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้สูงขึ้น นำมาสู่ความต้องการระบบ Cybersecurity เพื่อป้องกันภัยคุกคามดังกล่าว
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยสามารถให้บริการ 5G ในพื้นที่ EEC ได้ทั้งหมด ผนวกกับผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำของโลก ได้แก่ Amazon SUPERNAP และ CtrlS มีการลงทุน Data Center ไปแล้วและมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมใน จ.ชลบุรี ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ EEC สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเข้าถึงบริการระบบคลาวด์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้สามารถประมวลข้อมูลในระบบคลาวด์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากถูกโจมตีทางไซเบอร์ จึงนำมาสู่ความต้องการระบบ Cybersecurity
ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี ซึ่งค่อนข้างมีความพร้อมด้านเงินทุนและบุคลากรมีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยี IoT มากขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต การติดตามการทำงานของเครื่องจักรอุตสาหกรรมแบบ Real Time มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักรอุตสาหกรรมสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งจัดเก็บและประมวลข้อมูลจากการใช้ IoT ในระบบคลาวด์มากขึ้น
ส่งผลให้ความต้องการใช้ Cybersecurity ประเภท Network Security Data Security Identity and Access Management และ Cloud Security ในพื้นที่ EEC มากขึ้นตาม เนื่องจากผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยี IoT มีความเสี่ยงที่ระบบเครือข่าย (Network) และข้อมูลในอุปกรณ์ IoT
รวมทั้งข้อมูลที่จัดเก็บบนระบบคลาวด์อาจจะถูกโจมตีหรือโจรกรรมข้อมูลต่างๆ จึงจำเป็นต้องติดตั้ง Cybersecurity สี่ประเภทดังกล่าว เพื่อป้องกันระบบ Network ข้อมูลในอุปกรณ์ IoT และข้อมูลที่จัดเก็บในระบบคลาวด์จากการถูกโจมตี ถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต และถูกโจรกรรมข้อมูลต่างๆ ในอุปกรณ์ IoT และระบบคลาวด์
ความต้องการใช้ระบบ Cybersecurity ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้รายได้รวมของอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity ของไทยเพิ่มขึ้น โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่ารายได้รวมของอุตสาหกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 4.4 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 6.3 พันล้านบาทในปี 2568
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังพื้นที่ EEC อาจจำเป็นต้องหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจและลูกค้า โดยหนึ่งในแหล่งเครือข่ายสำคัญคือ EEC Automation Park ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ EEC
นอกจากนั้น ควรเลือกจัดจำหน่ายระบบ Cybersecurity ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจากมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลของลูกค้าในระบบ Cybersecurity ได้รับการปกป้องอย่างปลอดภัยสูงสุด