ครม.ไฟเขียวเลิก ‘duty free’ ขาเข้า 8 สนามบิน หนุนเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ
ครม.รับทราบแนวทางยกเลิก duty fee ขาเข้า สนามบิน 8 แห่ง ตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง หนุนแนวทางเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการใช้จ่าย ยอดจำหน่ายรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท ยันไม่กระทบสัญญากับเอกชน ช่วยดันจีดีพีเพิ่มขึ้นได้ 0.012%
นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา วันนี้ (2 ก.ค.67)มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการใช้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ซึ่งประกอบไปด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ
2.ผลประโยชน์ และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น ทั้งนี้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตาม และประเมินผลของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้มติ ครม. ในวันนี้ มีมติเห็นชอบตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการใช้จ่าย (มาตรการฯ) และมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภค และการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมอบหมายกระทรวงการคลัง พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าวซึ่งกระทรวงการคลังได้ศึกษาแล้วพบว่า
การยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า ที่ตั้งอยู่ ณ ท่าอากาศยานภายในบริเวณพื้นที่ห้องผู้โดยสารขาเข้าเพื่อแสดงและขายให้แก่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free ขาเข้าจำนวน 3 ราย ดำเนินกิจการในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่
1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. ท่าอากาศยานดอนเมือง 3.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4.ท่าอากาศยานภูเก็ต 5.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 6.ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 7. ท่าอากาศยานสมุย และ 8.ท่าอากาศยานกระบี่ โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้ารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 3,021.75 ล้านบาท
โดยกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้ว สรุปได้ดังนี้ ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ โดยทั่วไปสามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกินสองหมื่นบาท
2.บุหรี่ปริมาณไม่เกินสองร้อยมวนหรือซิก้าร์ หรือยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่างละสองร้อยห้าสิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกันปริมาณไม่เกินสองร้อยห้าสิบกรัม แต่บุหรี่ต้องมีปริมาณไม่เกินสองร้อยมวน
และ 3.สุราปริมาณไม่เกินหนึ่งลิตร ทั้งนี้ การได้สิทธิซื้อสินค้าต่างๆ ภายในร้าน Duty Free ขาเข้าย่อมทำให้โอกาสในการจับจ่ายในการบริโภค และการซื้อสินค้าภายในประเทศมีน้อยลง ดังนั้น กค. จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้า Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภค และการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้าน Duty Free ขาเข้าดังกล่าวมากระจายหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวทางการดำเนินการกระทรวงการคลังได้พิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว พบว่าประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (ประกาศกรมศุลกากร) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับสิทธิการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรตามข้อ 21 และ 22 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับการพักใช้ และการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขในการอนุญาต โดยมิได้บัญญัติเกี่ยวกับการสั่งระงับสิทธิในกรณีอื่นๆ ไว้
แต่จากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรโดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้าตามนโยบายของรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีผู้ประกอบการมีความยินดีในการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการที่ กค. มีแนวคิดจะแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้าน Duty Free ขาเข้ามาหมุนเวียนใช้จ่ายในประเทศได้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า
ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้ศึกษาผลประโยชน์ และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ: นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้า และบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท
2.ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย: ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน
3.ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ: ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free จะมีการสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไปเสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป
4.ผลต่อรายได้ของภาครัฐ: เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
5.ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม: กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์