‘คลัง‘ เร่งอัดมาตรการภาษี - สินเชื่อ ดันจีดีพีปี 2567 โต 3% ตามเป้า

‘คลัง‘ เร่งอัดมาตรการภาษี - สินเชื่อ ดันจีดีพีปี 2567 โต 3% ตามเป้า

“เผ่าภูมิ” เผยรัฐบาลเตรียมออกมาตรการภาษี และกลไกสินเชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ดัน GDP โตถึง 3% ตามเป้าหมาย ระบุหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับบริหารได้ และปลอดภัย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังงาน “Unlocking the Growth Potential of Secondary Cities” จัดโดย World Bank วันที่ 3 ก.ค.2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีปัญหานั้น รัฐบาลจะต้องเร่งเข้ามาแก้ไข โดยการเร่งรัดมาตรการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจให้เม็ดเงินลงสู่ระบบในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ถือว่าน่าพึงพอใจ และทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่มีตัวเลขเกินเป้าหมาย

ขณะที่คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 ยังออกมาไม่ดี รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเตรียมเร่งออกมาตรการทางการคลังที่จะขับเคลื่อน และกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ถึงเป้าหมายที่ 3% ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และจัดสัมมนาในเมืองรอง ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน)

รวมทั้งมาตรการทางการเงิน ได้แก่ สินเชื่อซอฟต์โลน โดยธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้าน ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในสัปดาห์หน้า และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ (PGS 11) โดยบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

"มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติมเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างถูกจุด มีต้นทุนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณ ระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะออกมาปลายปี 2567 นี้" นายเผ่าภูมิ กล่าว 

สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นมาตรการสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการกระจายรายได้ และลดการกระจุกตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีผลเล็กน้อยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 แต่จะมีผลต่อกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนในช่วงต้นปี 2568 

ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 รัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนได้เยอะขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อ ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลใช้ต้นทุนน้อย แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังไม่ตรงจุด เนื่องจากยังไปไม่ถึงกลุ่มรายย่อย ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ดังนั้นรัฐบาลจึงทำให้ตรงกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการใหม่ในการยกระดับ บสย. ให้ออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยอยู่ระหว่างรอประกาศ 

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ ครม.เห็นชอบแผนปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 ปีงบ 2567 ให้รัฐบาลก่อหนี้ใหม่อีก 2.75 แสนล้าน นั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหา และสบน.ไม่มีความกังวลอะไรเกี่ยวกับหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเลย 

ทั้งนี้ นิยามของหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 64.29% ต่อจีดีพี นั้นมีองค์ประกอบในการคำนวณมากกว่าคำนิยามตามหลักสากลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐไม่ได้ค้ำประกันไว้ด้วย ซึ่งหากปรับคำนิยามให้ตรงกับ IMF หนี้สาธารณะปัจจุบันของไทยจะเหลือเพียง 57% ต่อจีดีพี เท่านั้น ซึ่งถือว่าไทยมีหนี้อยู่ในระดับต่ำ และมีความปลอดภัย

"สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรวมทั้ง สื่อต่างชาติเข้าใจ และดูในรายละเอียดเชิงลึก จึงไม่ได้ดูหนี้สาธารณะไทยที่ตัวเลข 64.29% แต่ดูที่ 57%" นายเผ่าภูมิ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์