เส้นทาง R12 โอกาสของไทยและเพื่อนบ้าน (1)

เส้นทาง R12 โอกาสของไทยและเพื่อนบ้าน (1)

การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีหลายเส้นทางด้วยกัน ที่สามารถเชื่อมกับเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนามและจีนตอนใต้ หนึ่งในนั้นคือเส้นทาง R12 

เส้นทาง R12 ที่มีส่วนในการพัฒนาการค้าข้ามพรมแดน ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) 

ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ที่เชื่อมไทย สปป.ลาว เวียดนามและจีน โดยเริ่มจากด่านนครพนมของไทย ผ่าน สปป.ลาว เวียดนามและจีน โดยสามารถใช้เส้นทางจากไทยไปสู่จีนได้ 2 เส้นทาง คือ 

เส้นทางที่ 1 เริ่มจากด่านนครพนม (ไทย) - ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) - ด่านน้ำพาว - ด่านจาลอ (เวียดนาม) - ด่านหูหงิ - ด่านโหยวอี้กว่าน (จีน)  

เส้นทางที่ 2 เริ่มจากด่านนครพนม (ไทย) - ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) - ด่านน้ำพาว - ด่านจาลอ (เวียดนาม) - ด่านหม่องก๋าย - ด่านตงซิน (จีน) 

เส้นทาง R12 โอกาสของไทยและเพื่อนบ้าน (1)

เส้นทางทั้ง 2 สามารถเชื่อมต่อกันได้ที่ ด่านโหยวอี้กว่าน และด่านตงซิน จีน ระยะทางรวม 1,499 กิโลเมตร ระยะทางจากด่านท่าแขก - ด่านน้ำพาว รวม 160 กิโลเมตร ระยะทางจากด่านจาลอ - ด่านหูหงิ รวม 622 กิโลเมตร ระยะทางจากด่านจาลอ - ด่านหม่องก๋าย รวม 717 กิโลเมตร

โอกาสของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ R12 ถือเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ ที่เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างสี โดยผ่าน สปป.ลาวและเวียดนาม

นอกจากจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่เริ่มจากสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วน มีจุดชมวิวริมฝั่งแม่น้ำโขงที่สามารถมองเห็นสะพานได้อย่างสวยงามทั้งในฝั่งไทยและฝั่งสปป.ลาว

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวในเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนในสปป.ลาว จะเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวการชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวลาว และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัดโบราณ อาคารสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ถ้ำพระ ถ้ำนกนางแอ่น

รวมไปถึงการซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่ตลาดตามแนวพรมแดนของทั้งไทย-สปป.ลาว และสปป.ลาว-เวียดนาม ผ่านไปยังกรุงฮานอย เวียดนามไปสู่จีนตอนใต้

บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ R12 สำหรับไทยแล้วจะเป็นการขนส่งสินค้าทางบกของผู้ประกอบการไทยตามเส้นทางถนนที่มีความสำคัญเส้นทางหนึ่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจาก R12 มีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางสำคัญอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง

เส้นทาง R12 โอกาสของไทยและเพื่อนบ้าน (1)

เช่นทางหลวง AH1 ซึ่งเป็นทางหลักมุ่งสู่กรุงฮานอย และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ของเวียดนามตอนกลาง เช่น เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง และยังเชื่อมต่อกับทางหลวงโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Highway) ซึ่งเป็นเส้นทางมุ่งสู่ทั้งเวียดนามตอนเหนือและตอนใต้ 

ดังนั้น เส้นทางสาย R12 จึงถือเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ในการกระจายสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการขนส่งสินค้าประเภทผลไม้จากไทยไปเมืองหนานหนิง มณฑลกว่างสี โดยส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังฮ่องกงและท่าเรือกว่างโจว

จากนั้นจะขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟไปยังมณฑลกว่างสี ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนานกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งผ่านเส้นทาง R12 ที่ใช้เวลาเพียง 3-4 วัน จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

สำหรับ สปป.ลาว เส้นทาง R12 ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่จะเปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลไปเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง (land-locked to land-linked)

ที่นอกจากโครงการรถไฟสปป.ลาว-จีน แล้ว สปป.ลาว ยังมีโครงการเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามเส้นทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง เวียดนาม ซึ่งจะเป็นทางออกทะเลที่ใกล้ที่สุดของสปป.ลาว

รัฐบาลลาวมีความสนใจที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนของ สปป.ลาว ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟจากเมืองท่าแขกไปสู่ท่าเรือหวุงอ๋างของเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและสร้างการเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่จะทำให้เป็นการเชื่อมต่อจากศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าจากเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค (Vientiane Logistics Park: VLP) ออกสู่ทะเลที่ท่าเรือหวุงอ๋างของเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินโครงการ หากแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยวมีความสะดวกรวดเร็ว และกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

เส้นทาง R12 โอกาสของไทยและเพื่อนบ้าน (1)

ที่มาภาพ v-servelogistic

สำหรับเวียดนาม เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ R12 จะมีส่วนเอื้อสนับสนุนเศรษฐกิจของเวียดนามให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ภายหลังจากที่รัฐบาลเวียดนามใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “โด่ย เหมย” (Doi Moi) เมื่อปี 2529 เสมือนคนในวัยหนุ่มสาวที่กำลังแสวงหาโอกาสกับการสร้างอนาคต

เส้นทาง R 12 มีส่วนในการพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋างของเวียดนามกับสปป.ลาว ที่มีความพร้อมของพื้นที่ และความลึกของท่าเรือ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือเพิ่มเติม เช่น พื้นที่จัดเก็บสินค้า ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปสู่ต่างประเทศ

นับเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไทย ในฐานะจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเส้นทาง R12 ที่จะแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน 

การร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นของทั้งสี่ประเทศ ในการขจัดปัญหาอุปสรรคและสร้างการขนส่งที่ไร้ตะเข็บเท่านั้น จะทำให้เส้นทาง R 12 สามารถสร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียน
พิทยา สุวคันธ์, ธีรภัท ชัยพิพัฒน์, ศิวริน เลิศภูษิต, 
วิลัลพัชร ประเสริฐศักดิ์, วีระ นฤภัทรวนนท์ 
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
www.turac.tu.ac.th