'เศรษฐพุฒิ' ชี้ยานยนต์เผชิญ 'วัฏจักรสินเชื่อ' ไม่ลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงิน

'เศรษฐพุฒิ' ชี้ยานยนต์เผชิญ 'วัฏจักรสินเชื่อ' ไม่ลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงิน

“แบงก์ชาติ” มองอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งยอดผลิต-การจำหน่ายชะลอตัวมาจากวัฏจักรสินเชื่อที่มีการแข่งขันกันปล่อยสูงมากในขณะนี้ มองว่าปัญหานี้ยังไม่ถึงขนาดจะลามไปถึงการเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ และการเงิน

ปัญหาการชะลอตัวของยอดขาย และยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-เม.ย.2567 มีจำนวน 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 17.05% 

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูง และเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลมมาหลายเดือน กำลังซื้อยังคงเปราะบาง ประกอบกับการหั่นราคาลงของรถยนต์ทั้งรถ EV และรถสันดาปหลายรุ่นหลายยี่ห้อในขณะนี้ตอกย้ำภาพการชะลอตัวลงของอุตสาหกรรม และธุรกิจรถยนต์ในประเทศ

\'เศรษฐพุฒิ\' ชี้ยานยนต์เผชิญ \'วัฏจักรสินเชื่อ\' ไม่ลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงิน

ในประเด็นดังกล่าว เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันชัดเจนว่าต้องเหนื่อยจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์น้อยลง ซึ่งสะท้อนวัฏจักรของสินเชื่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อไปมาก และเหตุผลหลักคือ เรื่องความเสี่ยงของผู้กู้

ทั้งนี้ แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะส่วนสำคัญต่อภาคการผลิต และการส่งออกของไทย แต่ ธปท.มองว่าสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมยานยนต์คงจะไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤติทั้งในแง่เศรษฐกิจ และการเงิน

ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญผู้ประกอบการ และสมาคมในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาวะ และแนวโน้มธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2567 โดย “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ให้ข้อมูลว่า การหารือครั้งนี้รวมถึงความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายในระยะสั้น และการปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจในระยะข้างหน้า

รวมทั้งการหารือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการของ ธปท.ที่ทำมาต่อเนื่องกับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยในการประเมินภาพเศรษฐกิจเพื่อการทำนโยบาย และมาตรการของ ธปท.ต่อไป

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์มีผลผลิตที่ชะลอตัวลง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.- เม.ย.2567 มีจำนวน 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 17.05% 

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 ผลิตได้ 345,608 คัน คิดเป็นสัดส่วน 66.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 2.93% ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 2567 ผลิตได้ 173,182 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ลดลง 35.71%

ขณะที่โดยยอดจำหน่ายรถในประเทศช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 อยู่ที่ 210,494 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 23.9%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์เดือนเม.ย.2567 อยู่ที่ 47.63% โดยภาวะการผลิต และการจำหน่ายลดลงจากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ด้วย

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่าการใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันที่อยู่ระดับ 55.26% ซึ่งการใช้อัตรากำลังการผลิตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถือเป็นความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

นอกจากนี้ สศอ.รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ เดือนเม.ย.2567 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 6.82% โดยมีปัจจัยจากการหดตัวของตลาดภายในประเทศที่ติดลบ 27.97% ที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และระดับหนี้ครัวเรือนสูง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์