“ไทย”สอบตก-รั้งท้ายอาเซียน ดัชนีเปลี่ยนผ่าน“พลังงานสะอาด”โลก

“ไทย”สอบตก-รั้งท้ายอาเซียน  ดัชนีเปลี่ยนผ่าน“พลังงานสะอาด”โลก

สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในทุกบริบท กำลังเป็นปัจจจัยขัดขวางการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด

แม้ว่าค่าดัชนีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยเฉลี่ย หรือETI : Global average Energy Transition Index ซึ่ง107 ประเทศทั่วโลกม่ีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากทั้งหมด 120 ประเทศ แสดงถึงความก้าวหน้าความพยายามเปลี่ยนด้านพลังงานแต่เมื่อนำค่าเฉลี่ยมารวมกันกลับพบว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไม่ได้มีความคืบหน้าเท่าที่ควร 

รายงาน Fostering Effective Energy Transition หรือ การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีประสิทธิผล จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum : WEF ระบุว่า ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ได้สะท้อนผ่าน ETI ที่พบว่าค่าดัชนีเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาลดลง ซึ่งมีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์คือบททดสอบความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งราคาพลังงานที่แพงขึ้นทำให้หลายฝ่ายต้องอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจจึงนำไปสู่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ให้พลังงานสะอาดได้มากขึ้นด้วย 

แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรื่องกระจกจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจะเพิ่มขึ้น 1.1% ในปี 2566 ก็ตาม แต่อีกด้านของความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานก็ยังมีความก้าวหน้าอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลจากกฎระเบียบและความมุ่งมั่นทางการเมือง การศึกษา ทุนมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานที่ร่วมกันเป็นแรงผลักดันความก้าวหน้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม พบว่า ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมเพื่อเป็นโซลูชั่นด้านพลังงานกลับ“ชะลอตัวลง” ในภาพรวม แม้ว่า จีนและอินเดียได้ก้าวมาเป็นผู้นำเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ๆ  แต่ผู้นำที่แท้จริงยังเป็นของกลุ่มประเทศแถบยุโรป เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ส่งผลให้ความเข้มข้นการใช้พลังงานลดลง 12% ในปี 2565 ที่ผ่านมาเทียบกับปีก่อนหน้า 

นอกจากนี้ ประเทศ G20 ถึง 6 ประเทศยังติดหนึ่งใน 20 อันดับแรกในดัชนี ETI ปี2524  ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี บราซิล จีน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา  โดยเมื่อปี 2566 จีนได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (PV)ได้มากกว่าที่ทั่วโลกทำได้ในปี 2565   ด้านพลังงานลมก็มีการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 66% เมื่อเทียบเป็นรายปี 

“ตัวอย่างบราซิล กำหนดแผนระยะยาวเพื่อผลิตพลังงานน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อดึงดูดนักลงทุน และยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศเกิดใหม่ หรือกำลังพัฒนาที่ได้กำหนดทิศทางของพลังงานทดแทนไว้และยังต้องการการอุดหนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานรวมถึงเป็นการปลดล็อกด้านการลงทุนด้วย” 

    รายงานยังระบุถึงช่องว่างความแตกต่างด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดเกิดจากปัจจัย ข้อจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างภาระการเงินในระดับครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น  แต่ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆพบว่าการลงทุนด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 45% ตั้งแต่ปี 2563 โดยประเทศต่างๆ ซึ่งคิดเป็นสามในสี่ของความต้องการพลังงานทั่วโลก ได้เสริมสร้างนโยบายประสิทธิภาพพลังงานให้แข็งแกร่งขึ้นหรือบังคับใช้นโยบายใหม่แล้วในปีที่ผ่านมา

“การยุติการระบาดของโควิด-19 ,สงครามรัสเซีย-ยูเครน นำไปสู่วิกฤตพลังงานโลก ที่ดึงให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจนนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้คือต้นทุนการดำรงชีวิตของผู้คนในหลายประเทศ รวมถึงระบบเศรษฐกิจมหาภาคทั้งภาคการเงินและการคลังด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้กำลังทำให้ความพยายามเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไม่ราบรื่นเท่าที่ควร” 

การบอกแต่ปัญหาอุปสรรคอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น รายงานจึงเล่าถึงการทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจ ซึ่งดัชนี ETI ที่นับเป็นวิวัฒนาการของระบบพลังงานสะอาดในระดับประเทศที่ดำเนินการมานานถึง 14 ปีครอบคลุม 120 ประเทศ ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานในมิติ ประสิทธิภาพระบบพลังงานอย่างเท่าเทียม ความยั่งยืน และความปลอดภัยและความพร้อมในการเปิดใช้งาน สภาพแวดล้อมด้านนโยบายและกรอบการกำกับดูแล โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม การศึกษา และมนุษย์ รวมถึงเงินทุนและการเงินและการลงทุนด้วย

ทั้งนี้การให้คะแนน ETI มีสัดส่วนเรื่องประสิทธิภาพถึง 60% และความพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่ 40%  โดยทั้งหมดต้องอยู่บนความพร้อม 3 ด้านได้แก่ ความเสมอภาคว่าด้วยการ สร้างความมั่นใจในการกระจายสินค้าและการเข้าถึงอย่างยุติธรรม และความสามารถในการจ่ายพลังงานสำหรับทุกคนด้วย  มาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น

ความปลอดภัยว่าด้วยการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอุปทานผ่านการกระจายความเสี่ยงในสามคันโยก  ได้แก่ 1.พลังงานผสม 2.คู่ค้าและ3.แหล่งพลังงานของการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ต้องมีความยืดหยุ่นทั้งในระบบจ่ายแก๊สและระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย ขณะเดียวกันต้องมีความน่าเชื่อถือของกริด ซึ่งต้องสะท้อนจำนวน ช่วงเวลาการผลิตไฟฟ้าที่ควรอ้างอิงระบบเสรี 

     ความยั่งยืน ว่าด้วยการผสมผสานอุปสงค์และตัวชี้วัดด้านอุปทานเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และความเข้มข้นของมีเทนในการจัดหาพลังงานการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานการส่งเสริมการบริโภคอย่างรับผิดชอบทั้งพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวด้วยที่ต้องลดลงด้วย

สำหรับประเทศไทย พบว่า ได้คะแนนค่าดัชนีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด หรือ ETI นี้ในลำดับที่ 60 จาก 120 ประเทศ โดยมีคะแนน (ETI Score) เท่ากับ 55.8 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ที่ 56.5 คะแนน เท่ากับว่าประเทศไทยสอบตกและอยู่ในอันดับรั้งท้ายอาเซียน โดยอับดับหนึ่งหากเทียบเฉพาะอาเซียนคือ เวียดนาม 61.0 คะแนน ลำดับที่ 32  รองลงมาคือ มาเลซีย 60.1 คะแนนลำดับที่ 40  อินโดนีเซีย 56.7 คะแนน ลำดับที่ 54 ส่วนอาเซียนที่ได้คะแนนน้อยกว่าไทยคือ สิงคโปร์ 55 คะแนน ลำดับที่ 64  สปป.ลาว 53.5 คะแนน ลำดับที่ 72 กัมพูชา 52.9 คะแนน ลำดับที่ 77 บรูไน 50.3 คะแนน ลำดับที่ 96 และ ฟิลิปปินส์ 48.8 คะแนน ลำดับที่ 105 

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไม่ใช่เพื่อเป้าหมายความยั่งยืนอย่างเดียวแต่เหรียญอีกด้านของเรื่องนี้คือ การพยุงเศรษฐกิจให้ก้าวให้ทันโลกที่กำลังมองหาพลังงานสะอาดเพื่อขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาอยู่มากทีเดียว 

“ไทย”สอบตก-รั้งท้ายอาเซียน  ดัชนีเปลี่ยนผ่าน“พลังงานสะอาด”โลก