เตรียมพร้อมEECคว้าโอกาส ดึงดูดการลงทุนเมื่อโลกยิ่งแบ่งขั้ว

เตรียมพร้อมEECคว้าโอกาส  ดึงดูดการลงทุนเมื่อโลกยิ่งแบ่งขั้ว

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศมีแนวโน้มทวีความรุนแรง นำไปสู่การชะลอของกระแสโลกาภิวัตน์และโลกแบ่งขั้วมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนไป

ประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) จะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันผ่านการย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศที่จุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตใหม่ โดยเฉพาะ EEC ที่ถือได้ว่าเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี ในวันที่โอกาสมาถึง คำถามที่ตามมาคือไทยพร้อมแค่ไหนกับการคว้าประโยชน์จากสมรภูมิการแข่งขันนี้ เนื่องจากไทยคงไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอจะช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนที่จะย้ายออกมาจากฐานการผลิตเดิม แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีความพร้อมและสามารถก้าวขึ้นมาช่วงชิงโอกาสที่เกิดขึ้น สะท้อนจากตัวเลขลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังประเทศไทยช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

หากพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยยังต้องพัฒนาหลายด้าน โดยการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของ IMD World Competitiveness Center แม้ว่าอันดับในปี 2024 ของประเทศไทยขยับอันดับขึ้นมาเทียบเท่าก่อนวิกฤตโควิดอยู่ที่ 25 จาก 67 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดอันดับ (สาเหตุหลักจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีและเงินเฟ้อต่ำ) แต่ยังคงมีความท้าทายสำคัญจากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การศึกษา สุขภาพ และวิทยาศาสตร์ ที่อยู่อันดับต่ำ (อันดับ 43 จาก 67 ประเทศ) และปัญหาด้านการผลิตโดยรวมที่ลดลงในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประสิทธิภาพของภาครัฐที่ครอบคลุมกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework) และกฎหมายด้านธุรกิจ (Business legislation) ที่ย่ำอยู่กับที่นับเป็นความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

ดังนั้น EEC ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกที่กำลังเกิดขึ้น โดยอาจทำได้ผ่านแนวทางกรอบการจัดการ 4P ดังนี้

1. Product : ชี้เป้าหมายและให้ความสำคัญอุตสาหกรรมกลุ่มที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ผ่านแรงจูงใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุนรวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าในปี 2018 ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ EEC มีนโยบายส่งเสริมลงทุนโดยเฉพาะ

2. Process : ลดความซับซ้อนของกฎระเบียบภาครัฐ เช่น ขั้นตอนการจดทะเบียนและขอใบอนุญาต รวมถึงส่งเสริมการปรับปรุงและยกระดับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น เช่น ส่งเสริมการลงทุนทั้ง Ecosystem โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังขาดการพัฒนาในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตให้สอดรับกับมาตรฐานและเทรนด์ของโลกมากขึ้น เช่น เทรนด์ Digital และ ESG

3. Partner : สร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพื่อดึงดูดและรักษา FDI โดยอาศัยประโยชน์จากข้อได้เปรียบจากความเป็นกลางในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มขั้วเศรษฐกิจ สนับสนุนให้นักลงทุนเข้าถึงโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐและเอกชน (PPPs) เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ร่วมกัน ตลอดจนการบูรณาการกับท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักลงทุนต่างชาติและธุรกิจท้องถิ่น

4. People : เตรียมความพร้อมแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล ผ่านการให้เงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิตและองค์ความรู้ รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดรับกับความต้องการแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดแล้วไทยจะเร่งเครื่องยนต์การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติได้แค่ไหนส่วนหนึ่งขึ้นกับความพร้อมของ EEC ในแนวทาง 4P ที่ต้องเร่งเคลื่อนไปพร้อมกัน