‘ฮอนด้า’ หยุดผลิตโรงงานอยุธยา ส.อ.ท.มั่นใจแบรนด์ใหญ่ไม่ล้ม

‘ฮอนด้า’ หยุดผลิตโรงงานอยุธยา ส.อ.ท.มั่นใจแบรนด์ใหญ่ไม่ล้ม

“ฮอนด้า” ปรับแผนธุรกิจ เลิกการผลิตรถยนต์โรงงานโรจนะ ส.อ.ท. ระบุ “ฮอนด้า” ยุบรวมศูนย์ผลิตรถยนต์ไม่เกี่ยวกับยอดขาย แต่มีผลพวงมาจากเศรษฐกิจ“สรรพสามิต” ชี้ปีนี้ครบดีลผลิตอีวี 9 หมื่นคัน “สมาคมอีวี” หวั่นเกิดโอเวอร์ซัพพลาย

บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเรียกว่า “การปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย” มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV หรือการนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม “e:HEV series” ซึ่งเป็นระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮอนด้า ที่มีสัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยผลประกอบการในปี 2566 รถในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการขาย 32% แต่ปี 2567 นี้ ฮอนด้าตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 70%

และเพื่อให้คล่องตัวในการการดำเนินงาน บริษัทพร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยจะปฏิรูปแต่ละโรงงานของเราเพื่อยกระดับโครงสร้าง ประกอบด้วย

โรงงานปราจีนบุรี จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ

โรงงานอยุธยา จะหยุดการผลิตรถยนต์ และหันมาพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิต และห่วงโซ่อุปทานที่พัฒนาและสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี

“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป โดยจะผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสนับสนุนตลาดรถยนต์ในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นฐานการส่งออกทั่วโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยด้วย” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ฮอนด้าเริ่มผลิตรถยนต์ในไทยปี 2527 จากนั้นปี 2539 เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา เป็นครั้งแรก ก่อนขยายงานด้วยการเปิดสายการผลิตที่ 2 ในปี 2551

และเมื่อไทยเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รวมถึงอยุธยา ซึ่งฮอนด้าเป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรงนำไปสู่การตัดสินใจทำลายรถที่เคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ทันรวม 1,055 คัน รวมถึงชิ้นส่วนที่รอการประกอบ แม้จะไม่ถูกน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าจะไม่มีรถยนต์หรือชิ้นส่วนใดจากโรงงานอยุธยาที่อยู่ท่ามกลางน้ำท่วมยาวยาน หลุดรอดออกสู่ตลาด

และปี 2556 ฮอนด้าประกาศลงทุนแห่งใหม่เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่ปราจีนบุรี

ปี 2558 บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ประกาศสร้างสนามทดสอบรถยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

ปี 2559 รถยนต์ ฮอนด้า ซีวิค เจนเนอเรชั่นที่ 10 เป็นรถรุ่นแรกที่โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี

ปี 2560 ฮอนด้าเปิดสนามทดสอบในไทย เพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ที่ปราจีนบุรี

การลงทุนหลายส่วนที่ปราจีนบุรี ในช่วงเวลานั้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าฮอนด้าจะย้ายการผลิตไปปราจีนบุรีทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วมอยุธยา

โรงงานปราจีนรองรับผลิต EV

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาฐานการผลิตทั้ง 2 แห่ง ก็เปิดสายการผลิตรถยนต์ด้วยกันทั้งคู่ โดยปัจจุบันโรงงานอยุธยามีความสามารถในการผลิตสูงสุด (capacity) 150,000 คัน/ปี โดยผลิต Accord, BR-V, HR-V, CR-V, Civic

ขณะที่โรงงานปราจีนบุรี มีกำลังการผลิต 120,000 แสนคัน/ปี รองรับการผลิต Civic Hatchback, Jazz, City Sedan, City Hatchback และล่าสุด คือ การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV รุ่นแรกของฮอนด้า คือ e:N1

สำหรับการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตครั้งนี้ ถูกจับตาพอควรเพราะเกิดขึ้นช่วงตลาดรถยนต์ไทยหดตัวต่อเนื่อง การเข้ามาตีตลาดของ  EV จีน รวมถึงการประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น 2 แบรนด์ ก่อนหน้านี้ คือ ซูบารุ ที่มีผลปลายปี 2567 และซูซูกิ มีผลปลายปี 2568

อย่างไรก็ตามหากดูภาพรวมตลาดรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าฮอนด้ามียอดขายรวม 37,374 คัน ลดลงจากช่วงช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีถ้าเทียบกับหลายแบรนด์ หรือ ตลาดรวมที่ติดลบ 23.8%

แต่มีความเป็นได้ที่ฮอนด้าจะรวมการผลิตไว้ในแห่งเดียวเพื่อบริหารต้นทุนในภาวะที่ตลาดรถยนต์หดตัว อีกทั้งที่ปราจีนบุรีเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า และยังมีศูนย์ อาร์แอนด์ดี และสนามทดสอบในย่านเดียวกัน ทำให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น

ส.อ.ท.ชี้ฮอนด้าแบรนด์ใหญ่ไม่ล้มง่ายๆ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ฮอนด้าปรับแผนการปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย โดยประเมินว่าการปรับแผนการผลิตครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับยอดขายที่มีผลกระทบแน่นอน 

ทั้งนี้ฮอนด้าถือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ยังไงก็ไม่ล้มง่ายๆ โดยการปรับโรงงานพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป

“ที่ผ่านมาทุกแบรนด์ก็เป็นเหมือนกันทั้งจีน สหรัฐ ที่เคยยอดขายมีขึ้นมีลงตามเศรษฐกิจโลก จากเคยขายได้ 17 ล้านคัน เหลือ 9 ล้านคันก็มีมาแล้ว จึงเชื่อว่าฮอนด้าไม่ใช่ว่าจะยอดถอยง่ายๆ ซึ่งการทำธุรกิจปัจจุบันของทุกอุตสาหกรรมก็จะมีการปรับโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว

ค่าย EV เริ่มผลิตในประเทศปีนี้ 9 หมื่นคัน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ค่ายรถ EV ที่เซ็นสัญญาจะเริ่มเปิดโรงงานเพื่อผลิตชดเชย ซึ่งคาดว่าจะมียอดการผลิตรถ EV ในประเทศปีนี้ 8-9 หมื่นคัน และจะเริ่มเป็นปีแรกที่ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ และเป็นการสะท้อนการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของไทยเช่นเดียวกับที่เคยผลิตรถยนต์สันดาป

ทั้งนี้ การผลิตดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV 3.0) ตามมาด้วยมาตรการ EV 3.5 ซึ่งกรมสรรพสามิตลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีวีจาก 8% เหลือ 2%

รวมทั้งรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้ค่ายรถยนต์ที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการสูงสุดคันละ 150,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิต EV ในประเทศ ตามจำนวนรถที่นำเข้ามาในปี 2565-2566 ภายในปี 2567 ในอัตรา 1 ต่อ 1 และในปี 2568 อัตรา 1 ต่อ 1.5

ขณะที่มีค่ายรถยนต์ที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 เป็นจำนวน 23 บริษัท ซึ่งมีการนำเข้ารถ EV กว่า 100,000 คัน

ห่วงเกิดโอเวอร์ซัพพลายในประเทศ

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายอีวี 3.0 โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ค่ายรถอีวีที่นำรถเข้าจะต้องผลิตชดเชยตามสัดส่วนที่กำหนด โดยเป็นเงื่อนไขที่วางไว้ช่วงสถานการณ์ปกติ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอาจจะช้าลงในเรื่องของตลาดจึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะทำให้ตัวเลขตรงนี้อาจมีความกังวลว่าถ้าต้องผลิตตามที่ทำสัญญา

“หากผู้ผลิตผลิตได้ตามเป้าแต่สถานการณ์เศรษฐกิจหากไม่ดีขึ้น จะเกิดโอเวอร์ซัพพลายจากสต็อกที่มีอยู่แล้วหรือไม่ และเมื่อรวมสต็อกเดิมกับที่ต้องผลิตใหม่ตามที่ตกลงก็จะยิ่งทำให้สต็อกสูงกว่าที่ปกติ” นายกฤษฎา กล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ นำเสนอทุกภาคส่วนว่าอาจจะต้องร่วมกันคิด เพราะหากต่างคนต่างคิดและต่างคนต่างวางแผน ต่างคนก็ต่างไปในทิศทางของตนเองหมดจะกลายเป็นว่าถ้าเไม่สร้างสถานการณ์ของการปรับตัวของเศรษฐกิจก็อาจจะวางแผนผิดพลาด นำไปสู่สต็อกที่ไม่สมดุลกับกำลังซื้อของตลาด

แนะภาครัฐฟื้นกำลังซื้อคนไทย

นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ ค่ายรถยนต์ที่จะมาลงทุนประกอบ EV ในไทยมีราว 7-8 ราย ที่ยื่นขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมสรรพสามิต ดังนั้นกำลังการผลิตจะอยู่ที่เฉลี่ยปีละกว่า 400,000 คัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นประเทศไทยยังมีแพลนนิ่งเฟสที่เหนือกว่า แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องดูแลให้ดี คือ กำลังซื้อในประเทศอาจจะมีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีในช่วงนี้

“กำลังซื้อของเราลดลงเกิดจากอะไร ใช่การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ช้าหรือไม่ เพราะเป็นเงินระดับแสนล้านบาท ที่ไม่ลงมาอัดฉีดในระบบอาจทำให้เกิดปัญหานี้ได้ ดังนั้น เม็ดเงินจะเป็นตัวเคลื่อนเศรษฐกิจช้าลงได้ จึงอาจต้องรอดูอีกซักระยะ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามสถานการณ์มองว่าสัญญาณช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น โดย GDP จะโตที่ 2.6% และปีหน้าจะโต 3% จากปีที่แล้วที่ 1.9%”

ทั้งนี้แม้ยอดผลิต EV อาจจะเพิ่มขึ้นเพราะปีนี้ผลิตเป็นปีแรก แต่ทั้งภาพรวมตัวเลขการผลิตก็ลดลงไปพอสมควรเมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขจดทะเบียนก็คล้ายกัน อาจจะขึ้นในส่วนของ BEV และไฮบริด