‘สรรพสามิต’ คาดปี 67 ยอดผลิต EV ในประเทศแตะ 9 หมื่นคัน ชดเชยตามเงื่อนไข EV 3.0
“สรรพสามิต” เผยปี 67 ค่ายรถเริ่มเดินสายผลิตอีวีในประเทศ ชดเชยตามเงื่อนไข EV 3.0 คาดแตะ 9 หมื่นคัน ชี้เทรนด์ภูมิรัฐศาสตร์กีดกันการค้าหนุนไทยขึ้นแท่นฐานผลิตรถยนต์ภูมิภาค
KEY
POINTS
- อีวีป้ายแดง ณ 31 พ.ค.67 จดทะเบียนใหม่สะสม 1.7 แสนคัน
- ปี 67 เป็นปีแรกที่ค่ายรถอีวีเริ่มเดินสายการผลิตในไทย เพื่อชดเชยการนำเข้าจากปี 2565-66
- คาดยอดผลิตอีวีปี 67 แตะ 9 หมื่นคัน
- การกีดกันทางการค้า และกำแพงภาษีอีวี จะเป็นโอกาสให้รถผลิตในไทยมีใบเบิกทางส่งออก
มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน กระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และทำให้ยอดจดทะเบียนรถใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยรายงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ วันที่ 31 พ.ค.2567 มียอดยานยนต์ประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 175,316 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 168%
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กระแสวิกฤติโลกร้อนเป็นหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรถไฮบริด และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองได้ตั้งเป้าหมาย 30@30 ให้มีการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2030 เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งประเทศไทยในการเป็นฐานผลิตยานยนต์ในภูมิภาค
“ที่ผ่านมาไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก มียอดการผลิตรถยนต์ปีละ 1.6-1.8 ล้านคัน แต่ขณะนี้โลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทั้งระบบเอไอ และแบตเตอรี่ ซึ่งโจทย์สำคัญคือ การดึงการลงทุนใหม่ให้เข้ามา ทั้งค่ายรถสัญชาติจีนและยุโรป เพื่อรักษาการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของไทย”
โดยการออกมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV 3.0) ตามมาด้วยมาตรการ EV 3.5 ซึ่งกรมสรรพสามิตถือเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน และกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วยมาตรการทางภาษี ลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีวีจาก 8% เหลือ 2% นอกจากนั้นรัฐบาลยังจ่ายเงินอุดหนุนให้ค่ายรถยนต์ที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการกับกรมฯ สูงสุดคันละ 150,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการผลิตรถอีวีในประเทศ ตามจำนวนรถที่นำเข้ามาในปี 2565-2566 ภายในปี 2567 ในอัตรา 1 ต่อ 1 และในปี 2568 อัตรา 1 ต่อ 1.5
ทั้งนี้ มีค่ายรถยนต์ที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 มีจำนวน 23 บริษัท ซึ่งมีการนำเข้ารถอีวีกว่า 100,000 คัน
คาดปี 67 ไทยผลิตอีวี 9 หมื่นคัน
นายเอกนิติ กล่าวว่า ในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ค่ายรถอีวีที่เซ็นสัญญาจะเริ่มเปิดโรงงานเพื่อผลิตชดเชย ซึ่งคาดว่าจะมียอดการผลิตรถอีวีในประเทศปีนี้ 8-9 หมื่นคัน และจะเริ่มเป็นปีแรกที่ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ และเป็นการสะท้อนการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของไทยเช่นเดียวกับที่เคยผลิตรถยนต์สันดาป
ชงของบกลาง เพิ่ม 7,000 ล้าน
นายเอกนิติ กล่าวว่า โดยรวมแล้วมาตรการ EV 3.0 สิ้นสุดลงในปี 2566 ใช้เงินอุดหนุนทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท โดยสรรพสามิตได้เสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นกับสำนักงบประมาณ ซึ่งเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ สำหรับจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับชดเชยอีก 35,000 คัน ทั้งนี้ได้จ่ายอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40,000 คัน กว่า 7,000 ล้านบาท
ดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ 7 หมื่นล้าน
ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตอีวีในไทยกว่า 40,000 ล้านบาท และในปี 2569 จะมีเม็ดเงินลงทุนผลิต และประกอบแบตเตอรี่รถอีวีกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งได้เข้าไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว
"การให้สิทธิประโยชน์ EV 3.0 ลดภาษี และให้เงินอุดหนุนกับค่ายรถยนต์ โดยกำหนดว่าจะต้องใช้แบตเตอรี่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรถอีวีที่ผลิตในประเทศภายในปี 69 นอกจากนั้นในสัญญาสรรพสามิตยังระบุไว้ว่าจะต้องใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศด้วย ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนที่เข้ามาอีก 5,000 ล้านบาท"
สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567-2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะ ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ลดอัตราอากรขาเข้า และให้เงินอุดหนุนสำหรับค่ายรถยนต์บางค่ายที่เข้าร่วมมาตรการแรกไม่ทัน รวมทั้งค่ายรถเดิมที่สนใจ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เซ็นสัญญาแล้ว 8 บริษัท
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนสำหรับมาตรการ EV 3.5 จะลดลงจากเดิม และจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยในปี 2567 ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุดคันละ 100,000 บาท ปี 2568 ลดเหลือ 75,000 บาท ปี 2569 เหลือ 50,000 บาท และปี 2570 อยู่ที่ 50,000 บาท
“มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเราได้ประโยชน์ในการดึงเม็ดเงินลงทุนของเทคโนโลยีใหม่เข้ามาตั้งฐานการผลิต รวมทั้งการลงทุนเรื่องแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนต่างๆ ของรถอีวี ตอบโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งสรรพสามิตถือเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ แม้จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของสรรพสามิตลดลง”
สงครามการค้า โอกาสไทยเป็นฐานผลิต และส่งออกรถ
นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า ล่าสุดที่ได้มีการหารือกับค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเตรียมวางแผนในการผลิตรถอีวีพวกมาลัยซ้ายเพิ่มเติมเพื่อส่งออก จากเดิมที่ผลิตพวงมาลัยขวา เนื่องจากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลก จากผลของการกีดกันทางการค้าระหว่างสองขั้วอำนาจ ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทย ด้วยเงื่อนไขกฎของแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะต้องใช้ Local Content ไม่ต่ำกว่า 40%
“ทั้งนี้ การที่ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 30@30 หรืออีก 6 ปี ต้องมีการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศประมาณ 7.5 แสนคัน จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดอีวีโลก ซึ่งในมุมมองผมคิดว่าเป็นไปได้ ด้วยความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ของสองขั้วอำนาจ รถจากเมืองไทยที่มี Local Content ไม่ต่ำกว่า 40% จะทำให้ไทยเป็นจุดที่ใช้เป็นฐานการผลิตอีวีเพื่อส่งออกไปทั่วโลก”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์