‘จีน’ ดันรถอีวี บุกตลาดเกิดใหม่ หลัง ‘สหรัฐ - ยุโรป’ ตั้งภาษีโหด

‘จีน’ ดันรถอีวี บุกตลาดเกิดใหม่ หลัง ‘สหรัฐ - ยุโรป’ ตั้งภาษีโหด

ท่ามกลางข้อกังขาชาติตะวันตกชี้ “รถอีวีจีน“ รับเงินอุดหนุนจากรัฐมหาศาล จนต้องคณะกรรมการสอบ หากแต่ผู้ผลิตรถจีนบางราย หันหาตลาดเกิดใหม่และเป็นมิตร หนึ่งในนั้นคือ ไทย

KEY

POINTS

  • แม้ตลาดยุโรปและสหรัฐจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ตลาดเดียวของรถอีวีจีน
  • นอกเหนือการจัดส่งรถยนต์อีวีไปจำหน่ายในตลาดเกิดใหม่แล้ว ผู้ผลิตรถไฟฟ้าสัญชาติจีนยังได้เริ่มแผนจัดตั้งโรงงานการผลิตรถอีวีในประเทศนั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่ไม่จำเป็น เช่น บีวายดีเปิดโรงงานที่ไทย
  • การบุกตลาดเกิดใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือใต้-ใต้ และเป็นการตอบรับต่อกฎการค้าโลกใหม่

  • การสร้างมาตรการทางภาษีก็เพื่อเป็นอุปสรรค มีเป้าหมายเพื่อยืดเวลาให้ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐ และยุโรปบางราย สามารถวิ่งตามผู้ผลิตรถยนต์จีนได้ทัน

ท่ามกลางข้อกังขาจากชาติตะวันตกที่ว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีน รับเงินอุดหนุนจากรัฐมหาศาล จนต้องคณะกรรมการสอบ หากแต่ผู้ผลิตรถจีนบางราย หันหาตลาดเกิดใหม่และเป็นมิตร หนึ่งในนั้นคือ "ไทย" 

ชัดเจนแล้วว่า ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จากจีนสูงขึ้น หวังตอบโต้การแข่งขันจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งมาจากที่จีนได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมาก จนสามารถตั้งราคารถยนต์ถูก ซึ่งทำให้การแข่งขันจำหน่ายรถอีวีไม่เป็นธรรม

ขณะที่อียูหวังว่า มาตรการดังกล่าว จะจัดการกับกำลังการผลิตที่เป็นส่วนเกินในอุตสาหกรรมจีนที่ท่วมตลาดรถอีวีตอนนี้

ตรงกันข้าม ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีกลับขอให้ลดภาษี เกรงรัฐบาลปักกิ่งจะตอบโต้การค้ากลับ และจะกระทบวงกว้าง

มาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีจากจีนราว 17.4 - 36.7% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ (5 ก.ค.) เป็นต้นไป แต่ยังมีเวลาอีก 4 เดือนที่จีนและอียูจะเจรจาภาษีนำเข้ารถอีวีจากจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง หลังจากนั้นสมาชิกอียูจะลงมติประกาศอัตราภาษีขั้นสุดท้าย

ถ้าหากการเจรจาระหว่างจีนและอียู ไม่สามารถตกลงกันได้ อัตราภาษีจะยังคงเหมือนเดิมตามที่ประกาศใช้ในวันที่ 5 ก.ค. และจะมีผลบังคับใช้ต่อเนื่อง 5 ปี โดยระหว่างนี้ กระบวนการสืบสวนเพื่อต่อต้านการให้เงินอุดหนุนของอียู จะยังคงดำเนินการต่อไปอีก 4 เดือนเช่นกัน

ด้านสหรัฐจะเพิ่มภาษีรถยนต์อีวีจีนเป็น 100% ในปลายปีนี้ หรือเก็บเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 25% ส่วนแคนาดากำลังพิจารณาปรับภาษีประเภทเดียวกันนี้ด้วย

ความร่วมมือใต้-ใต้ กรุยทางบุกตลาดเกิดใหม่

“แม้ตลาดยุโรปและสหรัฐจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ตลาดเดียวของจีน” จอห์น เควลช์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยดุ๊ก คุนซาน กล่าวและเสริมว่า ยังมีโอกาสมากมายให้กับตลาดส่งออกและผลิตรถอีวีของจีน

เควลช์กล่าวเสริมว่า จีนสามารถร่วมมือกับประเทศที่มีฐานการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์อยู่แล้ว เช่น เม็กซิโก

ด้านหลี่ ฟาง ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรโลกแห่งประเทศจีนกล่าวด้วยว่า นอกเหนือการจัดส่งรถยนต์อีวีไปจำหน่ายในตลาดเกิดใหม่แล้ว ผู้ผลิตรถไฟฟ้าสัญชาติจีนยังได้เริ่มแผนจัดตั้งโรงงานการผลิตรถอีวีในประเทศนั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่ไม่จำเป็น

"บีวายดีเปิดโรงงานอีวีแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (4 ก.ค.) ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอกย้ำแนวคิดจีนที่ว่า การสร้างฐานการผลิตในประเทศกำลังพัฒนายังมองถึงโอกาสทำการตลาดกับประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์อีวี" ฟางชี้

“การดำเนินการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือใต้-ใต้ และจีนต้องการให้ตอบรับกฎการค้าโลกใหม่” ฟางอ้างอิงถึงความร่วมมือของจีนกับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้

ความร่วมมือกับประเทศในซีกโลกใต้ ได้รวมถึงประเทศในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา แม้บางครั้งจะเรียกประเทศต่างๆ ในกลุ่มนี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนา พัฒนาน้อย หรือด้อยพัฒนา

เปิดตัวเลขการค้ารถอีวี ‘จีน'

เมื่อปีที่แล้ว จีนส่งออกรถยนต์มากกว่า 4 ล้านคัน ทำให้จีนเป็นผู้ส่งอกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในจำนวนนี้ รถยนต์มากกว่า 1 ใน 4 หรือประมาณ 1.2 ล้านคัน เป็นรถยนต์อีวี

การซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในจีนก็สูงเช่นกัน แต่จีนใช้รถอีวีคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 60% ของรถอีวีที่จดทะเบียนทั่วโลก

การเมืองสหรัฐ วัดอนาคตอีวีต่างชาติ

นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การสร้างมาตรการทางภาษีก็เพื่อเป็นอุปสรรค มีเป้าหมายเพื่อยืดเวลาให้ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐ และยุโรปบางราย สามารถวิ่งตามผู้ผลิตรถยนต์จีนได้ทัน ขณะที่การเมืองภายในประเทศก็มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือน พ.ย.นี้

เควลช์บอกว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐที่เก่าแก่ มีความสำคัญมากในทางการเมือง เพราะพวกเขามีคนงานจำนวนมากในโรงงานผลิตรถยนต์ที่มิดเวสต์ ซึ่งเป็นรัฐสวิงสเตท

"คนงานในโรงงานรถอีวี ล้วนเป็นฐานเสียงที่สำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึง ดังนั้น อย่าคาดหวังจะได้เห็นการผ่อนปรนมาตรการต่อต้านการค้ากับจีนใดๆ จนกว่าจะถึงปี 2025" เควลช์ย้ำ

เดินเกมยาว บุกตลาดต่างชาติ

เมื่อเดือน มิ.ย. หรือหนึ่งเดือนก่อนเริ่มการเก็บภาษีของสหภาพยุโรปนั้น ได้เห็นอีวีสัญชาติจีนอย่างบีวายดี มียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ร่วมด้วยนีโอ และซีคอาร์

ฉิน หลีฮง  ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนีโอกล่าวกับชาแนลนิวส์เอเชียว่า การเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดคนมีเงินในยุโรป เป็นส่วนหนึ่งของเกมในระยะยาวที่เราไม่ควรพลาด

“หากแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายที่บริษัทอีวีต่างต้องเผชิญ ดังนั้นบริษัทต้องเช็กความพร้อมเสมอว่ายังคงแข่งขันต่อไปได้” ฉินกล่าว

ปัจจุบัน นีโอมีสำนักงานใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง เยอรมนี นอร์เวย์ และสหรัฐ

เมื่อถามว่า นีโอมีแผนร่วมมือกับผู้ผลิตรถต่างประเทศหรือไม่ ฉินกล่าวว่าในกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ เราจะไม่จำกัดความร่วมมือใดๆ ตราบใดที่ผลประโยชน์ร่วมกันมีความสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน

ที่มา : CNA