‘ครม.เศรษฐกิจ’ ชง ‘ธปท.’ คุยสถาบันการเงินลดจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำเหลือ 5%
“พิชัย” เผยครม.เศรษฐกิจเสนอ ธปท. ปรับลดอัตราชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำกลับมาอยู่ที่ 5% หลังกลับมาปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ในปีนี้ ชี้หนี้เสียบัตรจ่อแตะ 1.3-1.4 ล้านใบ ถกยืดเวลาผ่อนหนี้บ้าน เล็งคุยสินเชื่อรถยนต์ห่วงผิดนัดชำระเพิ่ม
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ (15 ก.ค.) ว่า มีข้อห่วงใยจากนายกฯ ขอให้ ธนาคารประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดอัตราการชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Pay) กลับมาที่ 5% หลังจากที่ตั้งแต่ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8%
ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้เป็นภาวะที่ประชาชนกำลังลำบากอยู่จึงอยากขอให้กลับมาอยู่ที่ 5% ส่วนเรื่องของวินัยทางการเงินให้ค่อยแก้อีกทีนึง
ปัจจุบัน มีสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ราว 24 ล้านใบ พบว่ามีบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) ไปแล้วกว่า 1.1 ล้านใบ และมีหนี้ที่กำลังจะเสียเพิ่มอีกกว่า 2 แสนใบ ซึ่งหนี้บัตรเครดิตมีดอกเบี้ยปรับในอัตราสูง
ซึ่งที่ผ่านมามีแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มหนี้บัตรเครดิตด้วยโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ให้หยุดสร้างหนี้เพิ่มเติมและยืดเวลาในการผ่อนชำระ
”ทั้งนี้ได้ฝากให้กระทรวงการคลังและ ธปท.ช่วยประสานกับบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่หลายรายให้เข้ามาร่วมโครงการอีกครั้ง เพื่อระยะยาวแล้วช่วยให้ลูกค้าฟื้นเป็นผลดีต่อบริษัทมากกว่า“
ขยายเวลาผ่อนบ้าน 80-85 ปี
สำหรับสินเชื่อบ้านได้ใช้กลไกของรัฐผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ 34% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มที่จ่ายหนี้บ้านต่อไม่ไหวกว่า 80,000 ราย จึงมีมาตรการเปิดให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ โดยการเพิ่มระยะเวลาผ่อนชำระได้สูงสุด 80-85 ปี เพื่อลดภาระการผ่อนชำระต่องวด ซึ่งมีผู้มาเข้าร่วมแล้วกว่า 5 หมื่นราย
ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือกับ ธปท. พูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ในการปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้สามารถยืดเวลาชำระหนี้ได้นานขึ้น เนื่องจากบ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาเพิ่มขึ้น
โดยคาดว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยลดสัดส่วน NPL ของธนาคาร รวมทั้งไม่ทำให้มีประวัติลูกหนี้เสียและกลับมาเป็นลูกค้าที่ดีของธนาคารพาณิชย์ได้
ถกแก้หนี้รถกระบะ มอเตอร์ไซค์
สำหรับปัญหาหนี้รถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะและมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน กำลังประสบปัญหาผิดนัดชำระมากขึ้นและปัญหาการปล่อยสินเชื่อรถใหม่ที่หดตัวลงจากความเสี่ยง ซึ่งจะมีการเรียกพบผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนให้กลับมารายงานแนวทางอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้า
นายพิชัย กล่าวต่อว่า รายงานล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 มีการขยายตัวของมูลค่าขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าตั้งแต่ปี 2566-2568 จะมีมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนเกิน 1 ล้านล้านบาท และเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินลงทุนในประเทศ โดยเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลงทุนมากสุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งนี้ ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามา
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นจะต้องทำให้ประชาชนฟื้นก่อน โดยการแก้เรื่องหนี้ ยืดหนี้ ลดภาระ แต่แน่นอนว่าการกระตุ้นจะค่อยๆ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันจะต้องมีมาตรการระยะยาวที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและเกษตร ที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย“