เปิด 2 แนวทางชง 'พีระพันธุ์' ลดค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.67 ต่ำกว่า 4.65 บาท

เปิด 2 แนวทางชง 'พีระพันธุ์' ลดค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.67 ต่ำกว่า 4.65 บาท

เปิด 2 แนวทางรัฐบาลอุ้มค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือนก.ย.-ธ.ค. 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่างวดปัจจุบัน โดยต้องหาเงินกว่า 2.8 หมื่นล้าน เพื่อคืนภาระ กฟผ. 

KEY

POINTS

  • 2 แนวทางรัฐบาลอุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่างวดปัจจุบัน โดยต้องหาเงินกว่า 2.8 หมื่นล้าน
  • การยืดจ่ายหนี้ กฟผ. จาก 0.2723 เหลือ 0.05 สตางค์ จะทำให้มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 98,495 ล้าน บวก 28,000 ล้าน เป็น 126,495 ล้าน
  • ถ้าให้ปรับขึ้นหน่วยละ 6.01 บาท จะใช้หนี้กฟผ.หมดในงวดเดียว จะทำให้งวดแรก ปี 2568 ก็มีโอกาสที่ค่าไฟลดลงเหลือประมาณ 4.20 บาท

จากการที่คณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย - ธ.ค. 2567 เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา เป็น 3 แนวทางโดยปรับเพิ่มค่าเอฟทีขึ้นในระดับหน่วยละ 46.83-182.99 สตางค์ และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่หน่วยละ 3.7833 บาท

ทั้งนี้ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวด ก.ย. - ธ.ค. 67 เพิ่มขึ้น 0.47 – 1.83 บาท เป็นหน่วยละ 4.65-6.01 บาท เทียบจากงวดปัจจุบัน (พ.ค. - ส.ค.) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จึงถือเป็นโจทย์ที่นายพีระพัยธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะต้องวางแผนในการลดค่าไฟให้อย่างน้อยเท่ากับงวดปัจจุบัน

สำหรับ 3 แนวทางที่เปิดรับฟังความเห็น ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1 จ่ายค่าเชื้อเพลิงคืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด 98,495 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 44% เทียบจากงวดปัจจุบัน  

แนวทางที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกฟผ. 3 งวด 3 งวด ๆ ละ 32,832 ล้านบาท จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท รวมค่าไฟฟ้าฐาน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18% 

แนวทางที่ 3 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนกฟผ. 6 งวด ๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท หรือภายใน 2 ปี บวกมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนก.ย. - ธ.ค. 2566 (เอฟเอฟ ก๊าซ)  15,083.79 ล้านบาท รวมค่าไฟฟ้าฐานที่หน่วยละ 3.78 บาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.65 บาท หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จึงอยู่ระหว่างนำสมมุติฐานดังกล่าว ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 ก.ค. 2567 ก่อนจะสรุป และประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งก๊าซในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจรตลาดโลกนำเข้า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ปรับจาก 10.38 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เป็น 13.58 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เป็นช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า จาก 33 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์ จากต้นปี ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวในปลายปี เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้สะสมทั้งในส่วนของกฟผ. 98,495 ล้านบาท และค่าภาระหนี้ของระบบที่ต้องจ่ายคืนให้กับผู้ขายก๊าซคือ บรษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 15,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากภาคนโยบายต้องการตรึงราคาค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.18 บาทเท่าเดิม จะต้องหางบประมาณมาเพิ่มอีก 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือ

1. การยืดจ่ายหนี้ กฟผ. จาก 0.2723 เหลือ 0.05 สตางค์ จะทำให้มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 98,495 ล้านบาท และบวก 28,000 ล้านบาท เป็น 126,495 ล้านบาท 

2. วิธีนำมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนก.ย. - ธ.ค. 2566  (เอฟเอฟ ก๊าซ) มาใช้ หมายถึงตรึงค่าแก๊สในส่วนที่ต้องจ่าย ปตท. และกฟผ. ในฐานะชิปเปอร์ เพื่อมาทดแทนในส่วนของ 28,000 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวทางของนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเลือกแนวทางยอมให้ปรับขึ้นหน่วยละ 6.01 บาท ถือว่า เจ็บแต่จบ จะใช้หนี้กฟผ.หมดในงวดเดียว และหลังจากนั้นงวดแรก ปี 2568 ก็มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายลดลง ค่าเอฟทีจะลดลงหน่วยละ 1.80 บาท จะทำให้ค่าไฟลดลงจากหน่วยละ 6.01 บาท เหลือประมาณหน่วยละ 4.20 บาทได้

เปิด 2 แนวทางชง \'พีระพันธุ์\' ลดค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.67 ต่ำกว่า 4.65 บาท

ทั้งนี้ สอดคล้องกับสมาคมธนาคารไทย ที่ได้ประเมินค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ยในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.22 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าในระดับเดียวกับการคาคการในครั้งที่แล้ว (4.18 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า) ตามราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยทั้งปี 2567 ที่คาดว่าจะอยู่ราว 308 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าการประเมินครั้งที่แล้วที่อยู่ราว 304 บาทต่อล้านบีทียู

เพราะคาดว่าต้นทุนการนำเข้า LNG ในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก ตามทิศทางราคา LNG ในตลาดเอเชีย (JKM LNG) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 9.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในครึ่งปีแรก เป็น 126 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในครึ่งปีหลัง ภายหลังอุปทาน LNG ในตลาดเอเซียมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นในอนาคต 

ซึ่งเป็นผลจากการที่สมาชิกอียูมีมติที่จะห้ามการลำเลียงก๊าซ LNG ของรัสเซียไปยังประเทศที่สามผ่านยุโรป ซึ่งการขนส่ง LNG ของรัสเซียผ่านท่าเรือของยุโรปไปยังเอเชียคิดเป็น 10% ของการส่งออกก๊าซ LNG ทั้งหมดของรัสเซีย จึงส่งผลกระทบต่ออุปทานก๊าซ LNG และราคาก๊าซ LNG ในตลาดเอเซีย