'เอกชน' แนะเร่งโรงไฟฟ้า 'นิวเคลียร์' ชี้แผน PDP 'แค่ได้ทำ-ไม่ตอบโจทย์'
"มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์" ประธาน "ICC Thailand" แนะรัฐบาลเร่งศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำหน้าและมีความผลอดภัยสูง จวก แผนPDP ฉบับใหม่ แค่ได้ทำ ยังไม่ตอบโจทย์
KEY
POINTS
- เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเผชิญปัญหาในมุมการเมืองที่ยังค่อนข้างลำบาก ขณะที่มุมมองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็ยังน่ากังวล
- ภาครัฐควรคุยไปในเรื่องของเจนเนอเรทีฟเอไอ ดาต้าเซ็นเตอร์ได้แล้ว แม้จะมีการใช้พลังงานสูงกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ถึง 3 เท่า แต่เมื่อค่าไฟฟ้าในประเทศยังแพงนักลงทุนจึงไม่มั่นใจที่จะลงทุน
- นิวเคลียร์มีความปลอดภัยที่สูงขึ้น อาจใช้โมเดลให้รัฐบาลลงทุน ให้เอกชนหรือผู้รับช่วงต่อจะ 3 หรือ 4 ราย ทำการตลาดเหมือนค่ายมือถือ สุดท้ายประชาชนจะได้ประโยชน์
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับปัญหาในมุมการเมืองที่ยังค่อนข้างลำบาก ในขณะที่มุมมองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็ยังน่ากังวล แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะมา ส่วนยุโรปดูดีขึ้น ตั้งแต่ที่ European Central Bank (ECB) ได้ลดดอกเบี้ยลง เศรษฐกิจจึงขยับขึ้น และคาดว่าครึ่งปีหลังก็น่าจะขยับอีก
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่น่าจับตาคืออินเดียที่มาแรงมาก เพราะการเมืองนิ่ง จึงมองว่าเวลาทำธุรกิจหากจะส่งออกไปอินเดียก็จะได้อยู่ แต่ปัญหาคือสินค้าไทยกับอินเดียมีความคล้ายคลึงกันมาก จึงต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับการผลิตสินค้าใหม่เพื่อส่งออกไปยังอินเดีย
นอกจากนี้ จากนโยบายภาครัฐที่อยากให้ไทยเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ จึงอยากถามว่าคนที่พูดรู้หรือไม่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ดังนั้น ควรคุยไปในเรื่องของเจนเนอเรทีฟเอไอ ดาต้าเซ็นเตอร์ได้แล้ว แต่จะมีการใช้พลังงานสูงกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ถึง 3 เท่า เพราะต้องเจนเนอเรทดาต้าตลอดเวลา เมื่อค่าไฟฟ้าในประเทศไทยยังแพงแบบนี้นักลงทุนจึงไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ ตาม(ร่าง) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP2024) ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เมื่อกางแผนดูจะพบว่าปีสุดท้ายแผนไฟสะอาดได้ใส่พลังงานใต้พิภพ 12 เมกะวัตต์ ส่วนตัวมองว่าจะเอามาจากไหน หากดูอินฟราสตรัคเจอร์ประเทศในอาเซียนที่มีโอกาสทำได้ คือ ฟิลิปปินส์แม้จะทำมานานแล้วแต่ก็ยกเลิกเพราะต้องเจาะลงใต้ดิน เกิดต้นทุนสูง
ดังนั้น พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) จึงเหมาะสมที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่และความปลอดภัยที่สูงขึ้น การใช้อินฟราสตรัคเจอร์ในการสร้างโรงไฟฟ้าจึงไม่มาก เพราะเทคโนโลยี SMR ได้พัฒนาไปไกลมาก เช่น เมื่อเปิด 1 โรงไฟฟ้า ก็สามารถจ่ายไฟได้ทั่วถึงทั้งจังหวัด ดังนั้น รัฐบาลควรรีบทำ อีกทั้ง จำนวนเบื้องต้น 600 เมกะวัตต์ แค่กทม. ก็ยังไม่พอใช้
"อาจใช้โมเดลให้รัฐบาลลงทุน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และให้เอกชนหรือผู้รับช่วงต่อจะ 3 หรือ 4 ราย ทำการตลาดเหมือนค่ายมือถือ สุดท้ายประชาชนจะได้ประโยชน์ และสิ่งสำคัญคือ รัฐบาลกล้ารื้อโครงสร้างพลังงานหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ค่าไฟเรายังแพงอันดับ 3-4 ในอาเซียน"
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ เวียดนามพยายามกดค่าไฟแต่อินฟราสตัคเจอร์ไม่ดีไฟจึงดับบ่อย เวียดนามจึงจะทำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้น ประเทศไทยก็ควรจะเร่งให้เกิดโดยเร็วและรีบทำความเข้าใจว่าเราอยู่กับนิวเคลียร์มาเกือบ 60 ปีแล้ว ปัจจุบันใช้ในทางการแพทย์ และเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่อาจใช้เกาะมาทดลองเมื่อทำเสร็จก็ลากสายให้ประชาชนในเขตนั้นๆ ได้ทดลองใช้ผ่านการประชาพิจารณ์ว่าใครอยากใช้บ้าง เป็นต้น
"ต้นทุนการก่อสร้างไม่มากกว่าการสร้างเขื่อนแน่นอน และถ้าสอบถามว่าจังหวัดไหนอยากลองก่อนและการันตีว่าค่าไฟถูกกว่าระดับ 1.5-2 บาทต่อหน่วย เชื่อว่าต้องมีจังหวัดที่อยากใช้แน่นอน เช่นจังหวัดที่มีโรงงานจำนวนมากอย่างสมุทรสาคร หรือสมุทรปราการ เป็นต้น ตนจึงอยากชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลเหมือนเขียวว่าได้ทำแล้วและคิดไว้ให้แล้วแต่ก็ไม่ได้คิดที่จะเร่งทำอย่างจริงจัง หรืออาจศึกษาประเทศที่ทำแล้วมาปรับใช้ก็ได้ ปัญหาคือประเทศไทยไม่กล้าที่จะรื้อโครงสร้างพลังงาน"