GULF ชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นกับนโยบายภาครัฐ
"กัลฟ์" เห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐที่จะให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่จะต้องศึกษาอย่างจริงจังและเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของต่างประเทศจะเป็นขนาดใหญ่ ส่วนขนาดเล็ก ๆ จะเป็นในรูปแบบของการใช้ในเรือดำน้ำ ที่ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว
KEY
POINTS
- "กัลฟ์" เห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐที่จะให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่จะต้องศึกษาอย่างจริงจังและเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของต่างประเทศจะเป็นขนาดใหญ่ ส่วนขนาดเล็ก ๆ จะเป็นในรูปแบบของการใช้ในเรือดำน้ำ ที่ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว
- ประเทศไทย มีแนวคิดเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นานแล้ว รัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดชลบุรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับ (ร่าง) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่จะมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาความมั่นคง เพราะด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยน ใช้พื้นที่เล็กลง ความปลอดภัยสูง ปลายแผนขนาดเบื้องต้นที่ 600 เมกะวัตต์นั้น สิ่งสำคัญคือการคุยกับชุมชนอย่างไรให้เข้าใจ
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐจะลองทำพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เอกชนก็ไม่ขัดข้อง โดยภาครัฐอาจจะใช้วิธีการศึกษากรณีของต่างประเทศแล้วนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนมากจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ส่วนขนาดเล็ก ๆ จะเป็นในรูปแบบของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ใช้ในเรือดำน้ำ ที่ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่ไม่ได้นำมาใช้ในรูปแบบของโรงไฟฟ้า
"กัลฟ์ก็เห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐที่จะให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่จะต้องศึกษาอย่างจริงจังและเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน" นายรัฐพล กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของนายกฯ ผ่านรายการ “คุยกับเศรษฐา” เป็นเทปแรก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวถึงการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีผู้บ่นเรื่องค่าไฟแพงในขณะที่ค่าไฟที่ถูกที่สุด คือ พลังงานนิวเคลียร์ โดยทุกคนอยากได้หมด แต่อย่ามาอยู่บ้านฉันนะไปอยู่บ้านคนอื่นแล้วกัน
“ผมก็เริ่มค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เราดูอยู่” นายเศรษฐา กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ร่างแผน PDP 2024 ได้กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่ถือว่าไม่มากเพราะมีการพึ่งพาเทคโนโลยีไฟฟ้าที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง กระจายต้นทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบ SMR
สำหรับ SMR ถือเป็นทางเลือกเพื่อรักษาความมั่นคง เพราะใช้พื้นที่เล็กลง ความปลอดภัยสูง ซึ่งมีแผนจะมีขนาดเบื้องต้นที่ 600 เมกะวัตต์ จะเข้ามาช่วงปลายแผน PDP 2024 เนื่องจากก่อนเปิดให้มีอย่างจริงจังจะต้องมีขั้นตอนของการขออนุญาตลงทุน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้มีแนวคิดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นานแล้ว เพราะผลิตพลังงานไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดชลบุรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 แต่ต้องเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ จากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในอ่าวไทย แม้ว่าเมื่อปี 1992 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 แห่งภายในปี 2006 แต่แนวทางการดำเนินการยังคงไม่ชัดเจน รัฐบาลได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งล่าสุดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทยอีกวาระหนึ่งอย่างจริงจัง โดยได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2011 – 2021 ครอบคลุมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีกำลังผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 4,000 เมกะวัตต์ โดยได้อนุมัติงบประมาณระหว่างปี 2008 – 2011 สำหรับเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
โดยได้เลือกสถานที่ก่อสร้าง/เทคโนโลยีการผลิต ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน และพัฒนาบุคลากรซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งงบประมาณ 240 ล้านบาท ระหว่างปี 2008 – 2010 สำหรับเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและการพัฒนาบุคลากร เลือกสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีความเป็นไปได้แล้วรวม 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ขอนแก่น และตราด
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เกิดขึ้นในไทยมาจากกระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ของสังคม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยไปในทิศทางที่ชัดเจนและขาดการต่อเนื่อง