'รัสเซีย' รุกขายน้ำมันไทย 16 ปี ไม่สำเร็จ กลั่นดีเซลได้น้อย ต้นทุนสูง

'รัสเซีย' รุกขายน้ำมันไทย 16 ปี ไม่สำเร็จ กลั่นดีเซลได้น้อย ต้นทุนสูง

ผ่าแนวคิด "รัสเซีย" รุกหนักเสนอขายน้ำมันให้ประเทสไทยกว่า 16 ปี แล้วก็ไม่สำเร็จ "กระทรวงพลังงาน" เผย เหตุผลกลั่น "ดีเซล" ได้น้อย-ต้นทุนสูง

KEY

POINTS

  1. "พีระพันธุ์" ระบุปัจจุบันราคาน้ำมันของรัสเซียมีราคาถูก แต่หากไทยจะนำเข้ามาอาจมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมาก และหากเอกชนซื้อเองนั้นยังซื้อไม่ได้
  2. น้ำมันของรัสเซียจะเป็นน้ำมันเบา ไม่เหมาะกับการที่จะมาผลิตน้ำมันใช้ในประเทศไทย ดังนั้น โรงกลั่นของไทยอาจจะไม่ได้ จึงต้องมาดูความคุ้มค่า โดยเฉพาะที่จะต้องนำน้ำมันดิบมาเข้าโรงกลั่น 
  3. แนวคิดการนำน้ำมันเบาจากรัสเซียมาใช้เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว และก็หายไป คงเป็นเรื่องของความไม่เหมาะของโรงกลั่นบ้านเรามากกว่า

จากกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือกับนายเซอร์เก โมคานิคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ถึงความร่วมมือด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ 

โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อน้ำมัน เพราะปัจจุบัน ราคาน้ำมันรัสเซีย มีราคาถูก แต่หากไทยจะนำเข้ามาอาจมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมาก และหากเป็นการซื้อของเอกชนที่ไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียนั้นยังซื้อไม่ได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากแนวคิดของนายพีระพันธุ์ คือ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบรัสเซียถูกกว่าตะวันออกกลาง แต่น้ำมันของรัสเซียจะเป็นน้ำมันเบาซึ่งไม่เหมาะกับการที่จะมาผลิตน้ำมันใช้ในประเทศไทย ดังนั้น โรงกลั่นของไทยก็อาจจะไม่ได้ จึงต้องมาดูความคุ้มค่า โดยเฉพาะที่จะต้องนำมาเข้าโรงกลั่น 

นอกจากนี้ แนวคิดการนำน้ำมันเบาจากรัสเซียมาใช้เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว และก็หายไป คงเป็นเรื่องของความไม่เหมาะของโรงกลั่นบ้านเรามากกว่า สมัยก่อนถ้าจำไม่ผิดนั้น จะมีของรัสเซียเข้ามา แต่ติดความไม่เหมาะและก็หายไป ซึ่งตอนนั้นไม่มีสงคราม และไม่มีการคว่ำบาตรอะไรเลย 

"วันนี้วิวัฒนาการของโรงกลั่นประเทศไทยทั้ง 6 โรงกลั่น ได้ก้าวหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว ถ้าเอาน้ำมันเบามาทำจะคุ้มหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุน แม้อาจจะไม่ต้องถึงขั้นลงทุนแต่อาจจะต้องใส่สารเพื่อทำให้ได้น้ำมันซึ่งไม่แน่ใจว่าน้ำมันที่จะได้จะเป็นดีเซลในปริมาณที่คุ้มค่าหรือไม่" แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แม้จะมีการซื้อน้ำมันที่ถูกกว่าตะวันออกกลางที่เหมาะสมกับการที่ได้น้ำมันดีเซลมาก ซึ่งจะได้เนื้อน้ำมันในปริมาณที่ไม่เท่ากันก็เป็นไปได้ อีกทั้งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางจะเป็นน้ำมันที่ผลิตแล้วได้ดีเซลเยอะ โรงกลั่นแต่ละโรงกลั่นก็ไม่เหมือนกัน จึงเป็นที่มาว่าทำไมประเทศไทยถึงมีโรงกลั่น 6 โรงกลั่น 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องหารือกับโรงกลั่นเพื่อศึกษาว่าน้ำมันเบาเหมาะกับโรงกลั่นไหน โดยที่ผ่านมาจึงติดปัญหาในเรื่องของคุณภาพน้ำมันและการที่จะได้ดีเซลน้อย ต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยมีการใช้น้ำมันดีเซลสูงถึงกว่า 70% เมื่อได้ดีเซลน้อยก็ไม่อยากทำ และเมื่อซื้อมาแล้วไม่ได้สิ่งที่จะได้ของที่ขายดีกว่าแล้วจะเอามาทำไม 

แหล่งข่าว กล่าวว่า สมัยนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยมีแนวคิดที่จะซื้อน้ำมันรัสเซียเข้ามาตอนช่วงเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งตอนนั้นราคาน้ำมันรัสเซียถูกมากกว่าปัจจุบันมาก และตอนนี้ก็กลับสู่ภาวะปกติ และอาจจะมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มเติม 

แนวคิดนี้เป็นไปได้ที่จะเอามาและจะต้องดูประโยชน์ กลั่นออกมาอาจจะไม่ได้คุณภาพ ก็ต้องดูว่าหากเทียบกันแล้วจะถูกกว่าเท่าไหร่ ส่วนคุณภาพการกลั่นคงไม่ได้ตามที่ประเทศไทยอยากได้ แต่หากนำเข้ามาได้จริง คนที่ได้ประโยชน์ก็อาจจะเป็นโรงกลั่นหากใช้ราคาขายปลีกเหมือนเดิมที่ยังอิงราคาสิงคโปร์ จึงต้องแลกกับต้นทุนด้วย ซึ่งแนวทางของนายพีระพันธุ์จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่าท่านจะเอาอย่างไร     

รายงานข่าว ระบุว่า ช่วงปี 2551 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลโหม ได้มีการติดต่อขอซื้อน้ำมันดีเซลจากประเทศรัสเซีย และยอมรับว่าคุณภาพน้ำมันของประเทศรัสเซีย มีความแตกต่างจากของไทย แต่ราคาถูกกว่าถึงลิตรละ 8 บาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถนำเข้ารอบแรกได้ภายใน 60 วัน และจะส่งเสริมให้มีการนำเข้าต่อเนื่อง เดือนละ 300,000 ตัน หรือ 25% ของการใช้ในประเทศ โดยผู้ที่จะใช้น้ำมันในส่วนดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์เท่านั้น ซึ่งจะรองรับการใช้ในส่วนของผู้ประกอบการรถบรรทุกได้ พร้อมทั้งย้ำว่าการนำเข้าดังกล่าวจะไม่กระทบธุรกิจน้ำมันในภาพรวม

นอกจากนี้ นายสมัคร ยืนยันว่า ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการนำเข้าน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เพราะให้บริษัทเอกชนดำเนินการ ทำสัญญาแบบปีต่อปี รวมทั้งได้มีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ปประชุมคณะรัฐมนตรี ในเดือน ก.ค.2551 แต่ท้ายที่สุดไม่มีการนำเข้าน้ำมันดังกล่าว