Ged ไม่ใช่ GMOsทางแก้ใหม่ทุกปัญหาภาคการเกษตร

Ged ไม่ใช่ GMOsทางแก้ใหม่ทุกปัญหาภาคการเกษตร

เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ( GEd)คือการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือเพื่อแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ เป็นอีกความหวังเพื่อใช้แก้ปัญหาภาคการเกษตรและเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร

คงจะใหม่ไปสักหน่อยและหลายคนยังไม่รู้จัก เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ที่เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยน และแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือเพื่อแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับ

 ที่สำคัญเทคโนโลยีGEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs  และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นทางออกของทุกปัญหาสินค้าเกษตร รวมถึงเป็นอีกวิธีการที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ

Ged ไม่ใช่ GMOsทางแก้ใหม่ทุกปัญหาภาคการเกษตร

 ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลก ได้ลงทุนงานวิจัย และอนุมัติการใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี GEd ได้แก่ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลีญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย 

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์พืช การเตรียมความพร้อมในการเป็นSeed hubโดยเมื่อเผยว่าวันที่ 11 ก.ค. 2567ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567”ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการเดินหน้าสำหรับเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะเทคโนโลยีGedที่มีศักยภาพสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ประมง จากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม โดยประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับเมื่อกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จากนั้นจะมีประกาศการขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ทั้งกลุ่มพืช สัตว์ ประมง  และจุลินทรีย์

 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าในส่วนของพืชที่กรมวิชาการเกษตรดูแลจะ ดำเนินการสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วน ได้รับทราบ อาทิเกษตรกร ประชาชนใช้สื่อโซเซียลมีเดีย เป็นช่องทาง เน้นความบันเทิงสอดแทรกสาระ สร้างไวรัลในโลกออนไลน์ผู้ดูแลนโยบายนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแลนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการสร้างการรับรู้มาในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว

ในด้านงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนมร่วมกันระดับประเทศ สร้างโมเดลพืชเริ่มต้น: พืช GEd ทดแทนการนำเข้า เช่นข้าวโพด ถั่วเหลือง, พืช GEd พลังงาน อาทิอ้อย ปาล์มน้ำมัน พืช GEd ผัก สมุนไพร

ในระดับนานาชาติได้เตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี GEd เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืช GEd และการพัฒนาบุคคลกรวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น

ซึ่งการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นการยกระดับศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรของประเทศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่ได้จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้น และยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก