‘การท่องเที่ยว’ การเดินสวนทางระหว่างไทยกับหลายประเทศ

‘การท่องเที่ยว’ การเดินสวนทางระหว่างไทยกับหลายประเทศ

ในขณะที่ไทยพยายามจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยยกเว้นวีซ่าให้แก่ประชาชนของ 93 ประเทศ หลายประเทศดำเนินมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวมิได้นำเงินมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูเพียงอย่างเดียว หากสร้างผลกระทบมากมายให้แก่ท้องถิ่นพร้อมกันไปด้วย ทั้งต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นและต่อสิ่งแวดล้อม

“เมืองเวนิส” ของอิตาลีปีนี้เพิ่มมาตรการอันเข้มข้นเพื่อจำกัดนักเที่ยวซึ่งได้ทำมาก่อนแล้ว เช่น การห้ามนำเรือสำราญเข้าเทียบท่าในย่านที่มีความเปราะบางสูง มาตรการใหม่ ได้แก่ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวจำพวกรวมตัวกันเป็นกลุ่มให้ไม่เกินกลุ่มละ 25 คน พร้อมกับห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ผู้เข้าไปเที่ยวเพียงวันเดียวจะต้องจ่ายคนละ 3-10 ยูโรในช่วงเวลาที่ทางการกำหนด

เวนิสมิใช่เมืองเดียวในอิตาลีที่พยายามจำกัดนักท่องเที่ยว เมืองอื่นก็ทำรวมทั้ง “กรุงโรม” ซึ่งเริ่มเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานบางแห่ง “เมืองมิลาน” ซึ่งมีกฎหมายกำหนดเวลาตั้งโต๊ะอาหารนอกอาคารอยู่แล้ว เพิ่มการจำกัดเวลาขายพิซซ่าและไอศกรีม และเมืองชายฝั่งทะเลที่งดงามบางแห่งใช้วิธีจำกัดจำนวนรถเช่าแบบให้สลับวันกันเข้าตามหมายเลขทะเบียนที่จบด้วยเลขคี่หรือเลขคู่ นอกจากนั้น ภาคเอกชนในหลายเมืองและในบางเกาะก็เริ่มจำกัดการรับนักท่องเที่ยวเนื่องจากขาดน้ำแสนสาหัส

“เมืองบาร์เซโลนา” ของสเปนมีสิ่งดึงดูดใจจำนวนมากทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปจนชาวเมืองทนไม่ไหว ทางการจึงพยายามจำกัดจำนวนด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามสร้างโรงแรมและห้องเช่าในใจกลางเมือง ห้ามเรือสำราญเข้าเทียบท่าบางแห่ง เพิ่มราคาตั๋วเข้าชมสถานที่น่าสนใจ จำกัดจำนวนคนและเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวและปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับรถโดยสารที่ผ่านบางย่านในเมือง กระนั้นก็ตาม นักท่องเที่ยวยังหลั่งไหลเข้าไปและสร้างปัญหา จนเมื่อไม่นานมานี้ชาวเมืองบาร์เซโลนาออกมาขับไล่โดยใช้น้ำสาดนักท่องเที่ยว

“กรีซ” เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีทั้งโบราณสถานอันงดงามและหมู่เกาะที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ สถานที่เหล่านั้นกำลังเพิ่มมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวเช่นกัน “เมืองหลวงเอเธนส์” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมกรีกโบราณและมีวิหารอันโด่งดัง นักท่องเที่ยวล้นจนนายกเทศมนตรีออกมาบ่นว่า การท่องเที่ยวไม่คุ้มค่าแล้วสำหรับกรีซ ทั้งนี้เพราะแต่ละคนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศเพียงคนละ 15 บาทเท่านั้น

ไม่เฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ในทวีปอื่นก็เช่นกัน ประเทศภูฏาน เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย หมู่บ้านใกล้ภูเขาไฟฟูจิของญี่ปุ่น และโบราณสถานมาชูปิกชูในเปรูล้วนพยายามจำกัดนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการต่างๆ เพราะมองว่ามูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวไม่คุ้มกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี นายกเทศมนตรีของเอเธนส์เพียงคนเดียวให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพียง 15 บาทต่อคน เมื่อปีที่ผ่านมา กรีซรับนักท่องเที่ยว 36 ล้านคน มูลค่าที่พวกเขาก่อให้เกิดจึงเป็น 540 ล้านบาท หรือราว 54 บาทต่อชาวกรีก 1 คน มูลค่าเพียงเท่านี้ทำให้นายกเทศมนตรีเอเธนส์ออกมาต่อต้านการท่องเที่ยวเพราะมันไม่คุ้มค่าไม่ว่าจะมองจากมุมไหน 

แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบและความเสี่ยงสำหรับประเทศของเขา ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 3 เท่าของจำนวนประชากร นักท่องเที่ยวอาจหายไปภายในพริบตาเมื่อเกิดปัญหาจำพวกโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวลดจาก 34 ล้านคนในปี 2562 เหลือ 7 ล้านคนในปี 2563

ด้านเมืองไทย เมื่อปีที่แล้วนักท่องเที่ยวเข้ามา 28 ล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าคนหนึ่งใช้จ่ายในเมืองไทย 42,000 บาทรวมเป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่พวกเขาสร้างผลกระทบเป็นมูลค่าเท่าไรไม่สามารถประเมินได้ ไม่ว่าจะเป็นต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลรวมทั้งความแออัดและการจราจรติดขัด หรือต่อสัตว์ที่ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยเนื่องจากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย รวมทั้งในอุทยานแห่งชาติทับลาน

การประเมินมูลค่าเพิ่มสุทธิที่แท้จริงจึงทำไม่ได้ นอกจากนั้น ความเสี่ยงต่างๆ ยังอยู่ครบโดยเฉพาะจากเหตุการณ์คาดไม่ถึง เช่น โควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวลดลงจาก 40 ล้านคนในปี 2562 เหลือ 15 ล้านคนในปี 2563 ด้วยเหตุต่างๆ ที่อ้างถึง การเดินทางสวนกับต่างประเทศของไทยอาจมิใช่นโยบายที่เหมาะสม