'พาณิชย์ 'ดึง '10 กลุ่ม 20 เครือข่าย 18 บริษัท' ดูดซับผลผลิตเกษตร แก้ราคาตกต่ำ

'พาณิชย์ 'ดึง '10 กลุ่ม 20 เครือข่าย 18 บริษัท' ดูดซับผลผลิตเกษตร แก้ราคาตกต่ำ

"พาณิชย์" รับลูก"เศรษฐา ทวีสิน " นายกฯ ประสานบริษัทรายใหญ่ของประเทศ ซื้อผลผลิตทางการเกษตร ช่วยคนตัวเล็ก แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดทำราคาตกต่ำ ด้านกรมการค้าภายในประสานผู้ประกอบการ 10 กลุ่ม 20  เครือข่าย 18 บริษัท รับซื้อ-จำหน่ายตามช่องทางเครือข่าย

KEY

POINTS

Key Point

  • นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งกระทรวงพาณิชย์ ดึงผู้ประกอบการรายใหญ่โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ร่วมกันดูแลผลผลิตทางการเกษตรพาณิชย์
  • เตรียมประสานบริษัทขนาดใหญ่ช่วยรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่าย
  •  กรมการค้าภายในประสาน" 10 กลุ่ม 20  เครือข่าย 18 บริษัท"ดูดซับผลผลิตทางการเกษตร

ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำของไทยเกิดขึ้นคู่กับภาคเกษตรกรรมของไทยเกิดขึ้นทุกๆปีไม่ว่าสาเหตุมาจากปริมาณผลผลิตที่ออกมามากกว่าความต้องการของตลาด ปัญหาโรคระบาด และอื่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปีและเป็นปัญหาหลักที่ทุกรัฐบาลจะต้องเจอ และต้องหาแนวทาแก้ไข บางรัฐบาลต้องเจอกับการชุมนุมเรียกร้องของเกษตรเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไข  

โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ที่มีมูลค่าตลาดรวมต่อปีไม่น้อยกว่า 8-9 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรอื่นอีก เช่น ผลไม้ พืชหัว พืชไร่ เป็นต้นโดยปัญหาดังกล่าวถือเป็น”เผือกร้อน”ของทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาล”เศรษฐา ทวีสิน”นายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรหลังที่นายภูมิธรรมเข้ามาบริหารกระทรวงพาณิชย์  โดยได้วางแนวทางคือการผนึกเอกชนทำตลาดส่งออก ยกระดับเพิ่มผลิตผลสินค้าเกษตร ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”  การบริหารจัดการกลไกตลาด วางแผนบริหารจัดการเชิงรุกในทุกสินค้า ตั้งแต่จัดการก่อนเกิดปัญหา  ช่วยลดต้นทุน และ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่

ด้วยเหตุนี้เองทำให้เมื่อวันที่18 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ได้เชิญนายวุฒิไกร ลีลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ไปหารือเรื่องการดูแลราคาและคุณภาพของผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง โดยขอให้มีมาตรการรองรับ เพื่อดูแลเกษตรกร และหนึ่งในมาตรการที่ว่า ก็คือ การดึงผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาช่วยเหลือ นอกเหนือจากมาตรการบริหารจัดการต่างๆเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรของกระทรวงพาณิชย์

\'พาณิชย์ \'ดึง \'10 กลุ่ม 20 เครือข่าย 18 บริษัท\' ดูดซับผลผลิตเกษตร แก้ราคาตกต่ำ

โดยนายเศรษฐา ได้เน้นย้ำว่า ผลลิตในช่วงครึ่งปีหลังเหลืออีกประมาณ 50 % ต้องดูแลทางด้านราคาและคุณภาพ จึงได้สั่งการให้ปลัดพาณิชย์และอธิบดีกรมการค้าภายใน ดูแลผลผลิตทางการเกษตรของพืชรอง อย่างผลไม้ พืชหัว และผัก โดยรัฐบาลมีแผนรองรับทั้งลำไยภาคเหนือ มังคุดภาคใต้ รวมถึงพืชหัวที่จะออกในฤดูกาลถัดไปในสิ้นปีนี้

“ผมได้เน้นย้ำว่าเราต้องดึงผู้ประกอบการรายใหญ่โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ร่วมกันดูแลผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศพร้อมยกระดับราคาด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สร้างมาตรฐานให้กับตลาดและเปิดตลาดใหม่ๆ”นายเศรษฐา ระบุ

จากข้อสั่งการของนายกฯทางกระทรวงพาณิชย์ก็รับลูกทันที โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์ ได้สั่งให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกฯ โดยให้ไปประสานความร่วมมือกับบริษัทรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาช่วยดูแลผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ ทั้งการช่วยรับซื้อ การนำไปขาย หรือนำไปทำตลาด เพื่อดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้ราคาที่ดีขึ้น

“ปกติบริษัทใหญ่ ๆ หรือบริษัทเจ้าสัว เขามีการทำงาน หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR อยู่แล้ว ก็ขอให้เขาเข้ามาช่วยกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลพืชผลทางการเกษตร จะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ พอมีปัญหาด้านราคา ก็เข้าไปแทรกแซง เข้าไปซื้อ มันไม่ยั่งยืน เราต้องดึงเจ้าใหญ่มาช่วย ซึ่งเท่าที่ได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์”

\'พาณิชย์ \'ดึง \'10 กลุ่ม 20 เครือข่าย 18 บริษัท\' ดูดซับผลผลิตเกษตร แก้ราคาตกต่ำ

นายวัฒนศักดิ์ ศรีเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า  เบื้องต้นได้มีการประสานงานกับผู้ประกอบการเพื่อให้เข้ามาช่วยดูดซับผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแล้ว  ภายใต้แนวทาง"พาณิชย์ จัดการเชิงรุก" มีเป้าหมายการบริการจัดการสินค้าเกษตร  313,474 ตัน ใน 3 กลุ่มสินค้า 

โดยมีผู้ประกอบการ   10 กลุ่ม 20  เครือข่าย 18 บริษัท  โดย 10 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.โรงพยาบาล

2.ผู้ผลิตสินค้า

3. ค้าปลีก-ค้าส่ง 

4.โรงแรม

5.หมู่บ้าน/คอนโด

6.ปั้มน้ำมัน

7.สายการบิน

8.แฟลตฟอร์ม

9.อุตสาหกรรม

10.แปรรูป-ส่งออก

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เครือไทยเบฟ ห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งโลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ท็อปส์ โก โฮลเซลล์ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ไอคอนสยาม เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ เอเชียทีค ห้างท้องถิ่นรายใหญ่ รวมถึงสถานีบริการน้ำมัน อาทิ พีทีที สเตชัน พีที เชลล์ บางจาก เป็นต้น

ทั้งนี้แนวทางที่นายกสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปดึงผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศเข้ามาช่วยดูดซับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อผลักดันราคาสินค้าเกษตรก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยดึงราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้