ครม.ไฟเขียวเกณฑ์ใหม่ ’Thai ESG’ ลดเวลาถือกองทุนเหลือ 5 ปี ลดหย่อนสูงสุด 3 แสน

ครม.ไฟเขียวเกณฑ์ใหม่ ’Thai ESG’ ลดเวลาถือกองทุนเหลือ 5 ปี ลดหย่อนสูงสุด 3 แสน

"จุลพันธ์" เผย ครม.ไฟเขียวเกณฑ์ใหม่ ‘Thai ESG’ ลดเวลาถือกองทุนเหลือ 5 ปี ลดหย่อนสูงสุด 3 แสนบาทต่อคนต่อปี หวังฟื้นตลาดหุ้น

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (30 ก.ค.67) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลังฉบับที่.. (พ.ศ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) โดยถือเป็นการปรับปรุงรายละเอียดของการลงทุนในกองทุน Thai ESG 

โดยเงื่อนไขใหม่จะให้สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทต่อคนต่อปี จากเดิมที่ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี และลดระยะเวลาการถือครองกองทุนจากเดิมแปดปีเหลือห้าปี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนของไทยได้ 

ทั้งนี้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 - 31 ธ.ค.2569 

ครม.ไฟเขียวเกณฑ์ใหม่ ’Thai ESG’ ลดเวลาถือกองทุนเหลือ 5 ปี ลดหย่อนสูงสุด 3 แสน
สำหรับขั้นตอนต่อไป ครม.จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียด และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และออกประกาศแก้ไขกระทรวงต่อไป

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังรายงานว่าจากการปรับปรุงมาตรการ Thai ESG จะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 13,000 - 14,000 ล้านบาท จากเดิมปีละไม่เกินปีละ 10,000 ล้านบาท แต่จะส่งผลดีต่อตลาดทุน และเพิ่มการออมเงินให้กับประชาชนในประเทศได้

นอกจากนี้เงื่อนไขใหม่กำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ Thai ESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท 

 

กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย (ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิ หักค่ารถหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) สูญเสียรายได้ 1.3 - 1.4 หมื่นล้านบาท

กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการ การสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท) และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้

1.) เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

2.) ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน

และ 3.) ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออม และการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออม และการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติม อาทิ เห็นควรที่กระทรวงการคลังจะติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้น

แนะคลังหาแนวทางเพิ่มรายได้

กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางการเพิ่มรายได้ภาษีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย และเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคตต่อไปด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์