BTS พร้อมเจรจา กทม.เคลียร์หนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ห่วงดอกเบี้ยเพิ่ม ดันยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้าน

BTS พร้อมเจรจา กทม.เคลียร์หนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ห่วงดอกเบี้ยเพิ่ม ดันยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้าน

"บีทีเอส" พร้อมเจรจา กทม. เคลียร์หนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระบุดอกเบี้ยเดินทุกวันเฉลี่ย 7 ล้านบาท ส่อดันหนี้รวมแตะ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่แนวทางเจรจาแลกสัมปทาน เชื่อ กทม.อยู่ระหว่างศึกษา

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงินรวมกว่า 11,755 ล้านบาท โดยระบุว่า วันนี้บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วว่าสัญญาจ้าง O&M ดำเนินการมาถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เราทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง 

“บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง เราย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน เพราะบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นตนต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร และที่ผ่านมาเรายืนยันเสมอมาว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน” 

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นบีทีเอสได้รับทราบจากข่าวของสื่อมวลชน ว่า กทม. พร้อมจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีบีทีเอสก็อยากให้ กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วยเนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวันเฉลี่ย 7 ล้านบาทต่อวัน และบีทีเอสไม่ได้อยากให้ดอกเบี้ยเดินทุกวัน วันนี้ถ้าเป็นไปได้บีทีเอสอยากให้ กทม.และ KT ชำระเงินส่วนนี้ทันที เพื่อให้บีทีเอสได้นำไปเสริมสภาพคล่อง และพัฒนาบริการแก่ผู้โดยสาร 

BTS พร้อมเจรจา กทม.เคลียร์หนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ห่วงดอกเบี้ยเพิ่ม ดันยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ บีทีเอส ยินดี และพร้อมที่จะเจรจากับ กทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป โดยหากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณา บีทีเอสก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเพื่อเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสาร 

นายคีรี กล่าวด้วยว่า ตนรู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด ฉะนั้นสิ่งที่ทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด บีทีเอสพวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่า กทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชน ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว

BTS พร้อมเจรจา กทม.เคลียร์หนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ห่วงดอกเบี้ยเพิ่ม ดันยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้าน

สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 ก.ค.2567 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย  

1. ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ที่ให้ กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท โดยส่วนนี้เชื่อว่า กทม.และ KT จะดำเนินการชำระหนี้ภายใน 180 วันหลังมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 

2.ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 

3.ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถ และซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนนี้บีทีเอสยังไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องเพิ่มเติม เพียงแต่ทำหนังสือวางบิลเพื่ออัปเดตจำนวนหนี้คงค้างให้กับ กทม.ในทุกเดือน

4.ค่าจ้างงานเดินรถ และซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี 2585 ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน 

BTS พร้อมเจรจา กทม.เคลียร์หนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ห่วงดอกเบี้ยเพิ่ม ดันยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้าน

โดยจำนวนหนี้ทั้งหมดนั้น เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ดังนั้นบีทีเอสจึงยังไม่มีแนวทางยื่นฟ้องเพิ่มเติม โดยเชื่อว่า กทม. และ KT จะชำระหนี้ตามกำหนด เพราะวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสัญญางานจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น หาก กทม.และ KT จ่ายล่าช้าออกไป ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกวัน และน่าจะทำให้หนี้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 4 หมื่นล้านบาท

นายคีรี กล่าวด้วยว่า ความเป็นไปได้ในการเจรจาขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแลกกับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการเจรจาในเรื่องนี้ โดยเชื่อว่า กทม.น่าจะอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารูปแบบ เพื่อบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายหลัก คือ สายสุขุมวิท หมอชิต – อ่อนนุช และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ที่กำลังจะหมดสัญญากับบีทีเอสในปี 2572 โดยหาก กทม. จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากได้เอกชนรายใหม่เข้ามาร่วมทุน ก็ต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ โดยจะต้องจ้าง BTS เดินรถตลอดแนวเส้นทางกว่า 60 กิโลเมตร จนครบกำหนดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2585 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์   BTS พร้อมเจรจา กทม.เคลียร์หนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ห่วงดอกเบี้ยเพิ่ม ดันยอดรวมเฉียด 4 หมื่นล้าน