OR ลงทุนคลังน้ำมันต่างประเทศ รองรับกำลังผลิต ‘ไทยออยล์’
“OR” ขยายตลาดต่างประเทศรวม 8,000 ล้าน ยก “กัมพูชา” เป็นบ้านหลังที่ 2 ลุยสร้างคลังน้ำมันรองรับกำลังการกลั่น “ไทยออยล์” ที่เพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน พร้อมขยายน้ำมันเครื่องบิน JET A1 เล็งผุดธุรกิจ LPG ใน “เวียดนาม” รับ หากสถานการณ์ “เมียนมา” สงบ พร้อมเดินหน้าลงทุน
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพื่อสร้างความสำเร็จ และการยอมรับในตลาดโลก โดยมุ่งพัฒนาความแข็งแกร่ง และเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทย และพันธมิตรในพื้นที่
ตลอดจนการขยายธุรกิจไปยังประเทศใหม่ๆ ซึ่งกลยุทธ์หลักยังคงเน้นการขยายเครือข่ายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) และคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ทั้งนี้ OR มีแนวทางในการขยายธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Global Market คือ การซื้อมาขายของ Aviation ซึ่งกระจายไปทั้งใน และนอกภูมิภาค และคาเฟ่ อเมซอนซึ่งเรามีพาร์ตเนอร์ชิพกับประเทศอื่น ทั้งนี้ รายได้อันดับ 1 คือ กัมพูชา รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว
OR ได้จัดสรรงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global ไว้ที่ 8,007 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของงบลงทุนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดสากล
อย่างไรก็ตาม OR ให้ความสำคัญกับ Second Home Base โฟกัสที่กัมพูชา ซึ่งธุรกิจที่ทำจะต้องสอดคล้องกับธุรกิจในกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยช่วง 1-2 ปีนี้ กำลังการกลั่นจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จาก 260,000 บาร์เรลต่อวัน จะเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่ง OR จะต้องจัดหาตลาดรองรับอีก 140,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้น ประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าน้ำมัน คือ กัมพูชา
“กัมพูชานำเข้าทั้งหมดเพราะไม่มีโรงกลั่น และแนวธุรกิจเหมือนไทยคือมีทั้งโมบิลิตี้ ไลฟ์สไตล์ มีปั๊มน้ำมัน 170 แห่ง คาเฟ่อเมซอน 200 กว่าแห่ง ซึ่งเติบโตได้ดี และมีเซเว่น 50 สาขา เราจึงโฟกัสน้ำมัน และผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ยางมะตอย ลูบิแคน”
สำหรับเงินลงทุนจะให้น้ำหนักไปที่โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะคลังน้ำมันที่กัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่ โดยปัจจุบันคลังมีอายุ 15-20 ปีอยู่ที่สีหนุวิลล์ เป็นคลังดีเซล แก๊สโซลีนเพื่อซัพพลายให้ PTT Station และเพื่อความสามารถในการแข่งขัน ด้วยอายุคลังที่มาก เรือเทียบท่าไม่ตอบโจทย์การแข่งขัน ขณะนี้ MD กัมพูชาอยู่ระหว่างเจรจาหาพื้นที่รองรับการเจริญเติบโตของเน็ตเวิร์ค และลดต้นทุนให้ได้ อีกทั้ง ยังเป็นการขยายธุรกิจในส่วนของ Aviation ด้วยเพราะปัจจุบันยังเช่า
“ตลาดกัมพูชามี 2 ส่วนคือ ปั๊มน้ำมันกับอุตสาหกรรมซึ่งนอกจากน้ำมันแล้วยังมีเรื่อง Aviation ที่ OR ทำร่วมกับ พนมเปญ เอวิเอชั่น ฟูเซอร์วิส (PAF) ซึ่งปัจจุบันเราซัพพลายน้ำมันเครื่องบิน JET A-1 เข้ากัมพูชาที่ 50% และในปี 2568 จะมีการเปิดสนามบินเพิ่มเติม”
นายดิษทัต กล่าวว่า สำหรับธุรกิจในเวียดนามนับว่าเศรษฐกิจมีอัตราการเจริญเติบโตดี แต่เชิงโมบิลิตี้ OR ไม่มีโอกาสตั้ง PTT Station เพราะยังไม่เป็นฟรีมาร์เก็ต โดยจะมีปั๊มปิโตรเลียมเม็ก พีวีออยล์ เป็นปั๊มโลคอล OR จึงเข้าลงทุนคาเฟ่ อเมซอนร่วมกับกลุ่ม CRG มี 25 สาขา
อย่างไรก็ตาม หากมองสถิติ GDP เวียดนามมีการเติบโตที่ดี มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน OR จึงมองโอกาสการขยายลงทุนด้านอื่น เช่น ศึกษาโอกาสการลงทุนอุตสาหกรรม LPG เพราะเวียดนามยังเป็นตลาดที่ต้องนำเข้า LPG ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม ปตท. มี PTT Trading ที่เข้าไปลงทุนในเรื่องของการนำเข้า และมองโอกาสในการทำตลาด ก่อนที่จะขอใบอนุญาตการลงทุน เป็น LPG ในส่วนของโมบิลิตี้
“หากกลุ่ม ปตท.ส่งไม้กันให้ดี เมื่อ Synergy กัน ก็จะนำไปสู่การทำธุรกิจใหม่ PTT Trading เก่งเรื่องการหาสินค้าต้นทุนดี แข่งขันได้ ขณะที่ OR เชี่ยวชาญการทำตลาด อาจจะมีการลงทุนคลังในเวลาที่เหมาะสม หรือจะไปซื้อหุ้นกับโลคอลพาร์ตเนอร์ ถือเป็นสเตป แต่คลังอยู่ในไปป์ไลน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความได้เปรียบในการทำธุรกิจ เพราะอาจจะต้องนำเข้ามาเก็บไว้ในคลังก่อนขาย”
นายดิษทัต กล่าวว่า ช่วง 5 ปีก่อน OR โฟกัสขยายการลงทุนไปยังเมียนมา แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น จึงต้องทบทวนคลังสินค้า OR คำนึง มาร์เก็ตติ้ง รีเทล ซึ่งเมียนมาถือว่ามีศักยภาพ และมีความคุ้นชินกับคนไทย ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เมียนมามีความพร้อม ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสของโออาร์
ส่วนที่ สปป.ลาว จะยังคงมีปัญหาเรื่องของค่าเงิน ส่วนฟิลิปปินส์การแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้ง PTT Station แต่ OR มีหลายตัว จึงมีโอกาสทำตลาดอุตสาหกรรม และน้ำมันเครื่องบินจะมาช่วยทำให้ปีนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย
ในขณะที่ ตลาดจีนอยู่ระหว่างทบทวน และปรับกลยุทธ์ เพราะที่จีนมีการแข่งขันสูง ซึ่งเดิมมีโออาร์ไชน่าดำเนินธุรกิจน้ำมันเครื่อง ส่วนคาเฟ่ อเมซอน คงปรับเป็นเหมือนแฟรนไชส์ทั่วไปไม่โอเปอเรตเอง โดยปีนี้จะรีวิสิทเพื่อหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ที่มีความแข็งแกร่งในดำเนินธุรกิจต่อไป
นายดิษทัต กล่าวถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ว่า ต้องการมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยการลงทุน Amazon Park ที่ จ.ลำปาง บนพื้นที่ 600 ไร่ โดยจะพาคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ลงพื้นที่เดือนก.ย.2567 จากนั้นจะขออนุมัติการลงทุนในเดือนต.ค.2567 เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการเฟสแรกในปีนี้บนพื้นที่ 350 ไร่ จากนั้นจะเริ่มทำเฟสที่เหลืออีก 250 ไร่ คาดว่าภายใน 2 ปี จะสามารถเปิดให้บริการได้
อย่างไรก็ตาม การที่คาเฟ่ อเมซอน จะยั่งยืนในตลาดต่างประเทศ ต้องมีแพลตฟอร์มสำหรับการเล่าเรื่อง เวลาที่นักลงทุนต้องการลงทุน ต้องมีโลเคชั่นที่จะบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพราะคาเฟ่ อเมซอนจะโตอีก 10-20 ต่อไปในประเทศไทยอาจจะลำบาก แต่หากมี Amazon Park บอกเล่าเรื่องราวนำไปสู่การขยายการลงทุนต่างประเทศ จะช่วยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับ Amazon Park จะมีศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม R&D พัฒนาต้นกล้ากาแฟเองจากปัจจุบันซื้อจากหน่วยงานราชการ ซึ่ง OR มีโรงคั่วที่มีกลางน้ำเข้มแข็ง มีร้านคาเฟ่อเมซอนถือเป็นปลายน้ำ กว่า 4,200 สาขา คือการสร้างอีโคซิสเต็ม จึงต้องยกคาเฟ่ อเมซอนขึ้นสู่แบรนด์ระดับโลก อีกทั้ง Amazon Park จะเป็นสถานที่จัดประชุม World Coffee ให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา สร้างความภูมิใจในแบรนด์ สร้างรายได้ในกับชุมชน กับ จ.ลำปาง คอนเซปต์คล้ายกับสิงห์พาร์ค นำไปสู่การพัฒนาสู่ความยั่งยืน
นอกจากนี้ OR ยังสมัครแอปพลิเคชัน VERRA เตรียมความพร้อมขายคาร์บอนเครดิตกาแฟ สามารถขายในตลาดระดับสากลได้ สอดรับกับเป้าหมาย OR 2030 สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนและสู่การเป็น Net Zero ปี 2050 เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ OR ทำเรื่อง Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อจะผลักดันเป้าหมายนี้เช่นกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์