ไทยขับเคลื่อนแผนฯ 5 ปี แม่โขง-ล้านช้าง สร้างอาชีพภายใต้Climate change

ไทยขับเคลื่อนแผนฯ 5 ปี แม่โขง-ล้านช้าง สร้างอาชีพภายใต้Climate change

ประเทศไทยเดินหน้าขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 5 ปี ภายใต้กรอบความร่วมมือ แม่โขง- ล้านช้าง มั่นใจ 6 ประเทศสมาชิก หนุนความเข้มแข็ง ผลักดันการสร้างทางเลือกอาชีพให้แก่ประชาชนริมน้ำโขงอย่างยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุทกวิทยาของแม่น้ำโขง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมการ ประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำสมัยสามัญ ครั้งที่ 5 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (The 5th Meeting of JWG) ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจาก 6 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และ LMC Water Center เข้าร่วมด้วย เพื่อหารือข้อเสนอโครงการและแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) สำหรับสาขาความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง

ไทยขับเคลื่อนแผนฯ 5 ปี แม่โขง-ล้านช้าง สร้างอาชีพภายใต้Climate change

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ 5 ปี ดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งและปรับตัว โดยผลักดันการสร้างอาชีพใหม่ๆให้แก่ประชาชนริมน้ำโขง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และการเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาของแม่น้ำโขง

 

 

 

นอกจากนี้ ยังได้เสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง–ล้านช้าง เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งกองทุนพิเศษฯ ดังกล่าว เป็นกองทุนที่ประเทศจีนให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกของความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของแผนปฏิบัติการ 5 ปี ก่อนหน้านี้ (พ.ศ.2560-2565) เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมั่นใจว่า แผนปฎิบัติการ 5 ปี ข้างหน้า จะนำไปสู่ความเร็จในการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มากยิ่งขึ้น

ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้างของทุกภาคส่วน ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การประชาสังคม กลุ่มเปราะบาง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ด้วยตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำ

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความรุนแรงและถี่ขึ้น เช่น น้ำท่วมในพื้นที่ทะเลทราย และปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดน้ำท่วมได้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าว

ไทยขับเคลื่อนแผนฯ 5 ปี แม่โขง-ล้านช้าง สร้างอาชีพภายใต้Climate change

ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง-ล้านช้างก็เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีีที่ 6 ประเทศในลุ่มน้ำโขง มีร่วมมือกันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกัน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอุทกวิทยาของลุ่มน้ำล้านช้าง-ลุ่มน้ำโขง และกลยุทธ์การปรับตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าว และเป็นทำงานในเชิงรุกเพื่อปกป้องอนาคตร่วมกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมการและผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีด้านน้ำ ครั้งที่ 2 และการหารือข้อริเริ่มในการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 9 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง รวมทั้งยังได้หารือแนวทางในการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแบ่งปันข้อมูลด้านอุทกวิทยา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ตลอดจนหารือกิจกรรมประชาสัมพันธ์งานที่มีความสำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างอีกด้วย