'ส.อ.ท.' จี้รัฐเจาะไส้ในเปิด-ปิดโรงงาน 'เอสเอ็มอี' ตาย รายใหญ่เปิดใหม่

'ส.อ.ท.' จี้รัฐเจาะไส้ในเปิด-ปิดโรงงาน 'เอสเอ็มอี' ตาย รายใหญ่เปิดใหม่

"ส.อ.ท." จี้รัฐเจาะไส้ในตัวเลขเปิด-ปิดโรงงาน ชี้ "เอสเอ็มอี" ตายเรียบปิดโรงงานอื้อ ขณะที่โรงงานเปิดส่วนใหญ่มีแต่รายใหญ่ แนะเร่งกู้วิกฤติเอสเอ็มอี ปล่อยกู้ตัวจริงที่มีปัญหา ลดต้นทุนค่าไฟ – โลจิสติส ป้องกันต่างชาติทุ่มตลาด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถิติตัวเลขของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 7 เดือน (ม.ค. - ก.ค. 67 ) มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ 667 แห่ง และมีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการแล้ว  1,260 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการ 54% ว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาไส้ในของตัวเลขที่เปิด และปิดโรงงานเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขการเปิดโรงงานจะสูงกว่าตัวเลขปิดโรงงานก็ตาม เนื่องจากโรงงานที่ปิดส่วนใหญ่ มีมูลค่าเฉลี่ยแต่ละโรงงาน 20 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่โรงงานที่เปิดส่วนใหญ่ มีมูลค่าเฉลี่ยแต่ละโรงงาน 170 ล้านบาท เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนเข้ามา     

อย่างไรก็ตาม โรงงานที่เปิดส่วนใหญ่ เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่บีโอไอ และรัฐบาลเดินสายดึงเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไทยต้องการเม็ดเงินลงทุน เราไม่ได้เถียงว่า ตัวเลขเปิดเยอะกว่าปิด แต่สิ่งที่ต้องการสื่อสาร คือ ไม่ได้อยากให้มองแค่ตัวเลขเปิดโรงงาน สูงกว่าปิดเท่านั้น มองแค่นี้ไม่ได้ เพราะถ้าตัวเลขปิดโรงงาน สูงกว่าเปิดโรงงาน ก็เท่ากับประเทศเจ๊งแล้ว

"ขณะนี้สถานการณ์ของการปิดโรงงานกลุ่มเอสเอ็มอี เริ่มมีอัตราสูงมากขึ้น อยากให้รัฐเร่งเข้ามาช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นเราจะตายเรียบ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาเปิดโรงงาน บางส่วนทางเอสเอ็มอีก็ยังตามไม่ทัน ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้เอสเอ็มอีตามให้ทัน ให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้ได้ด้วย”

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ยังเป็นข้อเสนอเดิมๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงได้จริง

รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟถูก ค่าโลจิสติกส์ที่ต้องถูก และหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มาถ่ายทมอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการป้องกันการทุ่มตลาดในประเทศ

  • ส่วนมาตรการของส.อ.ท.ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาระดับหนึ่ง ถือเป็นมาตรการระยะกลาง เป็น 4 มาตรการสำคัญ คือ โก ดิจิทัล ล่าสุดส.อ.ท.มีแพคเกจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เช่น โปรแกรมด้านการผลิต ด้านการบัญชี และด้านการควบคุมต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุน
  • โก อินโนเวชั่น เป็นเอสเอ็มอี จิ๋วแต่แจ๋ว ด้วยนวัตกรรม คล้ายกับเอสเอ็มอีของไต้หวันและอิสราเอล 
  • โก โกลบอล ผลักดันเอสเอ็มอีให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศได้ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ และ
  • โก กรีน ผลักดันให้เอสเอ็มอี ผลิตสินค้า และมีกระบวนการทั้งหมดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีน คือ สินค้าที่ทั้งโลกต้องการ และขยายตัวต่อเนื่อง หากไม่ปรับตัวจะตกขบวนได้

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ก.ค. 67 พบว่า มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ จำนวน 667 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการแล้ว 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการ 54%

ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีสถิติการปิดโรงงาน เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง ขณะที่มีการเปิดโรงงานใหม่ เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง คิดเป็นอัตราส่วนเฉลี่ย 53% หากคิดรายปีพบว่า ตั้งแต่ปี 62 อัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการ 69% ปี 63 เฉลี่ย 36% ปี 64 เฉลี่ย 28% ปี 65 เฉลี่ย 52% และปี 66 เฉลี่ย 84%

“เมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลง ใน 7 เดือนของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน”