เส้นทางสู่ประเทศรายได้สูง

เส้นทางสู่ประเทศรายได้สูง

ลี กวน ยู ผู้นำสิงคโปร์เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เล่าถึงเส้นทางการพัฒนาที่รวดเร็วของสิงคโปร์ จากประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาวะหลังอาณานิคมที่ยากลำบากหรือเป็นประเทศโลกที่สาม ได้ก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศโลกที่หนึ่งได้อย่างไรภายในเวลาเพียง 30 ปี

หนังสือ “From Third World to First : The Singapore Story 1965-2000” ของลี กวน ยูได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำหลายประเทศ ถึงความเป็นไปได้และกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ประเทศยากจนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้เพียงในช่วงเวลา 1 รุ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น การก้าวขึ้นไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายดาย แต่เต็มไปด้วยความท้าทายและกับดักในโลกปัจจุบัน 

หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในเวลา 2-3 ทศวรรษเช่นกัน ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีเพียง 34 ประเทศเท่านั้นที่สามารถยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ซึ่งกว่าหนึ่งในสามของประเทศเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากการรวมตัวในสหภาพยุโรป หรือการค้นพบน้ำมันที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

ในขณะที่อีก 108 ประเทศ ยังคงติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) โดยมีรายได้ต่อหัวเพียง 1,136-13,845 ดอลลาร์ ข้อมูลตั้งแต่ปี 2513 แสดงให้เห็นว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไม่เคยสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ของระดับรายได้ในสหรัฐเลย ซึ่งเทียบเท่ากับเพียง 8,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 7,300 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีเช่นกัน

ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบัน การก้าวข้ามสู่สถานะประเทศรายได้สูงยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นไปอีก ด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ ภาระหนี้สินที่สูงขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และกระแสการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากยังคงพึ่งพากลยุทธ์ที่ล้าสมัยในการกลายเป็นประเทศรายได้สูง หลายประเทศพึ่งพาการลงทุนเพียงอย่างเดียวมากเกินไป หรือบางประเทศก็เปลี่ยนมาเน้นสร้างนวัตกรรมก่อนเวลาอันควร

ธนาคารโลกได้ออกรายงานประจำปี World Development Report 2024 นำเสนอโมเดลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง โดยเสนอกลยุทธ์ที่เรียกว่า “3i strategy” ซึ่งแม้จะมีการพูดคุยกันในประเทศไทยมาบ้าง แต่การได้มองภาพใหญ่เทียบกับประสบการณ์หลายๆ ประเทศ ก็น่าจะมีประโยชน์ต่อการวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศต่อไป

กลยุทธ์ 3i ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การลงทุน (Investment) การผสมผสาน (Infusion) และนวัตกรรม (Innovation) โดยต้องปรับใช้กลยุทธ์นี้ให้เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ

เริ่มต้นเมื่อประเทศรายได้ต่ำ รัฐบาลต้องมุ่งเน้นนโยบายส่งเสริมการลงทุน (1i - Investment) การลงทุนจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปาและการสื่อสาร รวมถึงการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานและสาธารณสุข

เมื่อเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง รัฐบาลควรขยายนโยบายสู่การผสมผสาน (2i - Investment + Infusion) ให้ความสำคัญกับการผสมผสานเทคโนโลยีและความรู้จากภายนอกประเทศเข้ากับเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำได้โดยส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทข้ามชาติสู่บริษัทในประเทศ พัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว

สุดท้าย เมื่อเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จะต้องให้ความสำคัญในการก้าวสู่การสร้างนวัตกรรมของตนเอง (3i - Investment + Infusion + Innovation) ผ่านลงทุนในการวิจัยและพัฒนาขั้นสูง การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และรัฐบาล ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง และพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา

ประเทศเกาหลีใต้นับเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในทุกระยะของกลยุทธ์ 3i ในปี 2503 รายได้ต่อหัวของเกาหลีใต้อยู่ที่เพียง 1,200 ดอลลาร์ ปี 2566 ได้เพิ่มขึ้นสูงเป็น 33,000 ดอลลาร์หรือเพิ่มขึ้นถึง 27 เท่าในเวลา 43 ปี

เกาหลีใต้เริ่มต้นด้วยนโยบายเพิ่มการลงทุนของรัฐและส่งเสริมการลงทุนของเอกชน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นนโยบายอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมให้บริษัทนำเทคโนโลยีต่างประเทศมาใช้ จนได้พัฒนาวิธีการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น และปัจจุบันกลายเป็นผู้สร้างนวัตกรรมระดับโลก

ความยากของการไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วนั้น ส่วนหนึ่งคือความจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายประการโดยเฉพาะการควบคุมผลประโยชน์ทับซ้อน (Discipline vested interests) ซึ่งในหลายประเทศ มักพบปัญหาการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ รัฐวิสาหกิจ หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล 

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการควบคุมและสร้างสมดุล พัฒนาระบบการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและเอกชน  ประเทศยังจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาให้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต สร้างระบบการจ้างงานและเลื่อนตำแหน่งที่ยึดหลักความสามารถเป็นสำคัญ (merit-based system) ไม่ใช่โดยเส้นสาย

เส้นทางการไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่ได้ราบรื่นด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยกับดักที่ทำให้ประเทศติดชะงัก และก้าวไปไม่พ้น