ตรวจไข้เศรษฐกิจไทย "โรคขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอย"
ที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน เปรียบเปรยถึงเศรษฐกิจไทยว่าเหมือนคนป่วย ประชาชนทั่วไปเองก็คงสัมผัสได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีอาการเพลียและอ่อนแรง
สัญญาณบ่งบอกอาการป่วยที่เห็นได้ชัด คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากโควิด 19 ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศเราฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่พอสมควร
อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงนี้ ผู้บริหารประเทศก็อาจวินิจฉัยว่าเรามีวิกฤติเศรษฐกิจ จะต้องกระตุ้นเติมเงินให้ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย
หน่วยงานทางเศรษฐกิจก็อาจจะวินิจฉัยว่าหนี้ครัวเรือนกำลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนผู้ประกอบการของไทยก็อาจวินิจฉัยถึงปัญหาการบุกตลาดไทยของสินค้าจีนราคาถูก ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยกำลังจะล้มหายตายจากกันไป
ข้อวินิจฉัยต่างๆ ข้างต้น เป็นเหตุแห่งอาการป่วยที่ปรากฏของเศรษฐกิจไทยจริง และดูเหมือน “หมอ” ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งดูดาย มีการจ่ายยาเพื่อรักษาอาการป่วย เช่น มีการกระตุกกระตุ้นด้วยการจะอัดฉีดเงินเข้าสู่กระเป๋าของประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีการออกมาตรการผ่อนปรนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาหนี้
มีมาตรการเพื่อช่วยตัดตอนสินค้าจีนราคาถูกด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าตั้งแต่ 1 บาทแรก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจ่ายยาเพื่อรักษาตามอาการเท่านั้น
หากทำการ x-ray เบื้องต้น จะเห็นว่ารายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย การลงทุนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สินค้าและบริการของไทยจำนวนมากไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก
อาการป่วยของเศรษฐกิจไทยอาจเรื้อรังและลุกลาม หากไม่ได้รับการวินิจฉัยให้ลึกลงไปถึงสาเหตุที่แท้จริง เมื่อเราทำซีทีสแกนเศรษฐกิจไทยให้ชัดขึ้น จะพบว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการป่วยเปลี้ยเพลียแรง ได้แก่ ‘โรคขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอย’
โรคนี้ต้องทำการรักษาในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ความสามารถในการใช้และสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการยกระดับความเชื่อมั่นในการลงทุน
ประเทศ upper middle income อย่างประเทศไทย การจะเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจนั้น จะต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในขั้นแรกจะต้องมีความแพร่หลายของเทคโนโลยีและการนำนวัตกรรมไปใช้จริงโดยภาคธุรกิจ
รายงาน The Innovation Imperative for Developing Asia ของธนาคารโลก ระบุสาเหตุสำคัญที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย ว่าเป็นเพราะภาคธุรกิจไม่เห็นความจำเป็นหรือไม่มั่นใจในเทคโนโลยีนั้นๆ รวมถึงปัญหาขีดความสามารถของภาคธุรกิจในการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยี
ซึ่งในประเด็นนี้ หากเรามองให้ลึกลงไปถึงปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาบุกตลาดไทยผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce ต่างๆ จะพบว่าการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในการผลิต การบริหารจัดการ และระบบโลจิสติกส์ มีส่วนอย่างมากในการทำให้สินค้าเหล่านั้นมีต้นทุนโดยรวมที่ต่ำ
ในขั้นถัดไป คือการคิดค้น ต่อยอด และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งประเทศไทยเรามีบุคลกรและสถาบันด้าน ‘การวิจัยและนวัตกรรม’ ที่มีความรู้ความสามารถอยู่ไม่น้อย อีกทั้งมีกองทุนที่พร้อมให้ทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่มีวงเงินสูงถึงปีละเป็นหลักหมื่นล้านบาท เป็นสารตั้งต้นอยู่แล้ว ขอเพียงต้องมีทิศทางที่ถูกต้อง มีโฟกัสชัดเจน และมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเรื่องที่สำคัญมากและผู้เขียนมักจะพูดอยู่เสมอว่า เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ระบบการศึกษาก็ต้องยืดหยุ่นปรับตัวสู่การพัฒนาให้รวดเร็วเช่นเดียวกัน
ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จึงจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในยุดปัจจุบันและต่อๆ ไปได้
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกที่จะกระทบต่อทักษะและการทำงาน ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล สังคมสูงวัย และการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผลสำรวจประเทศสมาชิกของ OECD พบว่าปริมาณงานที่จะถูกแทนที่ด้วย AI และระบบอัตโนมัติ มีประมาณร้อยละ 18-35 ของงานทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่สูงอย่างที่ผู้คนหวั่นวิตก
แต่ที่แน่ๆ คือ AI และระบบอัตโนมัติ จะทำให้วิธีการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปและแรงงานจะต้องมีทักษะที่เหมาะสม โดยผลการสำรวจด้าน AI พบว่าการขาดทักษะที่เหมาะสมเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้กิจการยังไม่สามารถนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ และนี่เป็นผลสำรวจจากประเทศที่มี Digital Competitiveness อยู่ในลำดับค่อนข้างสูง (ของไทยอยู่ในลำดับที่ 30)
ประเด็นสุดท้ายที่จะขอพูดถึงคือ ‘ความเชื่อมั่น’ จากประสบการณ์ทำงานของผู้เขียน พบว่าความเชื่อมั่นในนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และประสิทธิภาพภาครัฐ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อขีดความสามารถในการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย
เราจะพบได้ว่า ปัจจัยด้านความต่อเนื่องของนโยบาย สภาพแวดล้อมด้านกฎหมายกฎระเบียบ และกรอบสถาบัน (institutional framework) เป็นส่วนหนึ่งของการวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศ (site selection criteria)
ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดย IMD (IMD World Competitiveness Ranking) ในปี 2567 พบว่า อันดับของกลุ่มตัวชี้วัดด้านกฎระเบียบธุรกิจ และกรอบสถาบัน ของประเทศไทยลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
‘ความต่อเนื่องของนโยบาย’ ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึงความคลอนแคลนไม่มั่นคง ในอดีต ผู้เขียนสามารถตอบนักวิเคราะห์และนักลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ ว่าประเทศไทยมีความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร แต่มาวันนี้ ผู้เขียนเองไม่สามารถตอบได้เต็มปากเต็มคำเช่นเดิม และไม่สามารถกล่าวถึงทิศทางหรือนโยบายในอนาคตได้อย่างมั่นใจ
ยารักษาอาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญมากตัวหนึ่งคือ ‘การลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย’ หากนักลงทุนไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายของรัฐหลังจากที่พวกเขาได้มีการลงเงินลงแรงไปกับประเทศเราแล้ว การลงทุนขนาดใหญ่ก็คงจะเกิดได้ยาก
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘หมอ’ ภาครัฐของเราจะรีบทำการวินิจฉัยโรคเชิงลึก ซีทีสแกนเศรษฐกิจไทยและเริ่มทำการรักษาที่ต้นเหตุอย่างเร่งด่วน เพราะการจ่ายยารักษาตามอาการไปวันๆ ไม่น่าจะทำให้ไข้เศรษฐกิจของไทยหายดีมีแรงแข่งขันในโลกยุคปัจจุบันได้เลย.