เกษตรฯ จับมือ WOAH แสดงบทบาทไทยพร้อมเป็นผู้นำงานบริการด้านปศุสัตว์
กระทรวงเกษตรฯผลักดันความร่วมมือกับองค์การสุขภาพสัตว์โลก ยกระดับงานสัตวแพทย์บริการของไทย พร้อมแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ความโปร่งใสของประเทศไทยต่อการพัฒนาด้านปศุสัตว์ บนความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสู่ความมั่นคงด้านอาหาร
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า เพื่อให้การตรวจติดตามการประเมินสมรรถนะงานสัตวแพทย์บริการ (Performance of Veterinary Services Follow Up: PVS Follow Up) ของประเทศไทยเป็นไปด้วยความราบรื่น สมบูรณ์ สะท้อนสมรรถนะจริงของกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการงานสัตวแพทย์บริการของประเทศไทย กระทรวงเกษตรได้หารือร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health: WOAH)
พร้อมทั้งแสดงบทบาทความเป็นผู้นำและแสดงความโปร่งใสของประเทศไทยต่อการพัฒนาด้านปศุสัตว์และการค้าสินค้าปศุสัตว์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก และนับเป็นความท้าทายในการพัฒนาสมรรถนะเพิ่มเติมของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อแนวโน้มด้านตลาดปศุสัตว์โลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) ความปลอดภัยอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมความยั่งยืนทางการปศุสัตว์ของไทย
ในโอกาสนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก กล่าวชื่นชมการดำเนินงานด้านสัตวแพทย์บริการของประเทศไทย ซึ่งจากการเดินทางไปตรวจประเมินช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่า กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการงานสัตวแพทย์บริการของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานเพื่อเพิ่มผลิตและยกระดับสินค้าปศุสัตว์ การทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ขณะเดียวกัน คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้มีข้อแนะนำให้พัฒนาระบบควบคุมและป้องกันโรคระบาดในสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับการค้าระหว่างประเทศ และการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมสำหรับหน่วยงานในระดับพื้นที่
นายเศรษฐเกียรติฯ กล่าวย้ำว่า ฝ่ายไทยให้ความสำคัญในด้านสุขภาพสัตว์ (Animal Health) เป็นอย่างยิ่ง โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคระบาดในสัตว์ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยขอรับการสนับสนุนจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก โดยขอให้พิจารณาสนับสนุนระบบการรับรองการผลิตวัคซีนของไทยเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศข้างเคียงให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การสุขภาพสัตว์โลก การปรับโครงสร้างบุคลากรให้เหมาะสมกับปริมาณงานในปัจจุบัน และการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เช่น การให้ทุนการศึกษาต่อในต่างประเทศและการอบรมหลักสูตรระยะสั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการขับเคลื่อนภาคเกษตร เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีการดำเนินการยึดตามหลักวิทยาศาสตร์ ในฐานะนายสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจควบคุมด้านการควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการควบคุมการดำเนินการตาม พรบ. ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าในการให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนของไทยมีความปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านสุขภาพและสาธารณสุขต่าง ๆ ต่อไป