โปรเจกต์ลงทุน 'คมนาคม' ส่งไม้ต่อรัฐบาล 'อุ๊งอิ๊ง'
เช็คโครงการลงทุนคมนาคม ส่งไม้ต่อรัฐบาล "อุ๊งอิ๊ง" ประเดิมรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง โครงข่ายทางพิเศษจ่อเสนอขยายตามหัวเมือง จับตาสางปัญหาโครงการร่วมทุนเอกชน ไฮสปีดสามสนามบิน - เมืองการบินอู่ตะเภา พร้อมนับหนึ่ง "แลนด์บริดจ์" บิ๊กโปรเจกต์ระดับล้านล้านบาท
KEY
POINTS
- เช็คโครงการลงทุนคมนาคมค้างท่อ ส่งไม้ต่อรัฐบาล "อุ๊งอิ๊ง" เร่งผลักดัน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
- ประเดิมรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 วงเงินรวมกว่า 2.7 แสนล้านบาท ด้านโครงข่ายทางพิเศษจ่อเสนอขยายตามหัวเมือง
- จับตาสางปัญหาโครงการร่วมทุนเอกชน ไฮสปีดสามสนามบิน - เมืองการบินอู่ตะเภา หลังลงนามมา 5 ปี ยังไม่ตอกเสาเข็ม
- พร้อมนับหนึ่ง "แลนด์บริดจ์" บิ๊กโปรเจกต์ระดับล้านล้านบาท ลุยเป้าหมายเดิมคลอดเอกสารประกวดราคาต้นปี 2568
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติเสียงข้างมาก 319 เสียง โหวตเลือก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และแน่นอนว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การบริหารงานภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหนึ่งโจทย์สำคัญยังหนีไม่พ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้ามาเป็นเวลานาน
กระทรวงคมนาคมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีงบการลงทุนสูงในระดับ “แสนล้านบาท” และในขณะนี้ยังมีโครงการค้างท่อรอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร่งรัดจำนวนไม่น้อย อาทิ
โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง มีวงเงินลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 26,600 ล้านบาท
2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท
4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท
5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท
6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท
7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท
โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมวงเงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท
รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา 10,670 ล้านบาท
รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช 4,616 ล้านบาท
โครงข่ายทางพิเศษทั่วประเทศ อาทิ
โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท
โครงการทางพิเศษ สายจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 วงเงิน 24,060 ล้านบาท
ส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์ เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงิน 4,508 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 (M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 31,358 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์หมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 45,939 ล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท
ปัจจุบันใช้เวลามาราว 5 ปี นับจากวันแรกที่ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 แต่ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ เนื่องจากยังติดปัญหาการเจรจารายละเอียดแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมีจำนวนลดลง และเป็นเหตุให้เอกชนยื่นขอการเยียวยาผลกระทบ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุน 204,240 ล้านบาท
ปัจจุบันใช้เวลามาราว 4 ปี หากนับจากวันที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามกับ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 โดยสถานะโครงการในปัจจุบัน “ยังไม่เริ่มก่อสร้าง” เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการ ทำให้ยังไม่สามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP)
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) วงเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท
หนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาล “เศรษฐา” ที่ต้องการผลักดันให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินทางไปโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนในหลายประเทศ และสถานะโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC เพื่อขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยมีเป้าหมายจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ในปี 2568 ก่อนคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/2568 คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 2569 เริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573