ธุรกิจจัดทัพบริหารต้นทุน-ดึงเทคโนโลยี ปั้นกำไร1,000%ท้าเศรษฐกิจชะลอตัว
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกรวมถึงประเทศ แต่ยังมีธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า 1,000%อยู่และหนึ่งในนั้นคือบริษัทของคนไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย ส่งออกและทำกำไรเข้าประเทศไทย
บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและอาหารสัตว์เศรษฐกิจของไทย รายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ด้วยกำไรสุทธิ สูงถึง 233 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 20 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 1,064.1% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 17.5 % โชว์ผลงานแกร่งสุดในรอบ 3 ปี พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.30 บาทต่อหุ้น ถือเป็นการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสูงสุดที่ได้มีการประกาศจ่ายตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอกย้ำผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
พีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในครึ่งแรกของปี 2567 ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจเพราะมีอัตราการเติบโตที่ดีและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย TFM ยังคงเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ Sea Change® 2030 ของกลุ่ม
ไทยยูเนี่ยน โดยบริษัทฯ สามารถทำยอดขายได้ 2,545.8 ล้านบาท และมีความสามารถในการทำกำไรที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 444.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 161.3% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 233.4 เพิ่มขึ้นกว่า 1,064.1 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนการผลิตในโรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมไปถึงผลการดำเนินธุรกิจของ TFM ในประเทศอินโดนีเซียที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ตลอดจนการปรับกลยุทธ์การขายและพอร์ตสินค้าของบริษัทฯ ส่งผลให้อัตรากำไรต่อหุ้นปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.04 บาท ต่อหุ้นขึ้นมาอยู่ที่ 0.47 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในครึ่งปีบริษัท ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท รวม 150 ล้านบาท
“ท่ามกลางปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย แต่ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำของเรายังคงเติบโตต่อเนื่อง และสามารถขยายตัวได้ เนื่องจากเรามีทีมวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับการเติบโตในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 TFM มีรายได้จากการขาย 1,296.7 ล้านบาท ขณะที่กำไรขั้นต้น อยู่ที่ 243.5 ล้านบาท เติบโตขึ้น 98.9 % โดยกำไรสุทธิ อยู่ที่ 129.4 ล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากปีที่ผ่านมาถึง 170.9% ซึ่งเป็นผลจากความสม่ำเสมอของการดำเนินกลยุทธ์บริหารจัดการพอร์ตสินค้าที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขยายตลาด และบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ซึ่งรวมไปถึงประสิทธิภาพในการผลิต พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าอาหารสัตว์น้ำสู่สินค้าที่มีศักยภาพ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 18.8% เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากอัตราขั้นต้นที่ 9.1% ในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับอัตรากำไรสุทธิ ที่เพิ่มเป็น 9.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.1 % อัตรากำไรต่อหุ้นปรับเพิ่มจาก 0.10 บาทต่อหุ้น ขึ้นมาอยู่ที่ 0.26 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจในครึ่งหลังปี 2567 บริษัทฯ คาดการณ์ว่ายอดขายกลุ่มอาหารสัตว์น้ำกำลังจะกลับมาเติบโตทั้งจากการขยายตลาด และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยบริษัทฯ จะมุ่งต่อยอดการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตอบโจทย์เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค
นอกจากภาคธุรกิจแล้วบริษัทยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกร เช่น การเพาะเลี้ยง และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น โดยเดินหน้าจัดทีมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง เช่น ประโยชน์ของการใช้พลังงานสะอาดภายในฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลากะพง การเลือกใช้วัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน และโทษของการใช้สารต้องห้ามในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ร่วมมือกับกลุ่มไทยยูเนี่ยน มีมาตรการรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำที่เป็นวัตถุดิบหลักในกลุ่มฯ เช่น กุ้งขาว และปลากะพง เป็นต้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร ในการหาช่องทางตลาดปลายทางให้กับเกษตรกร ซึ่งได้มีการทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
พีระศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทกำลังเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดอาหารปลา ไปยังประเทศอินเดียผ่าน Avanti ซึ่งเป็นพันธมิตร ที่มีการทำธุรกิจร่วมกันใน Brand อาหารกุ้งเดิมอยู่แล้ว เป็นผู้นำตลาดอาหารกุ้งในประเทศอินเดียซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด เป็นอันดับ 1 โดย Thai Union Group ถือหุ้นใน Avanti ในสัดส่วน 24% ของหุ้นจดทะเบียน
“ตลาดต่างประเทศที่เล็งเห็นโอกาส คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตลาดอาหารกุ้งมีขนาดใหญ่กว่าในประเทศไทย โดยมีบริษัทย่อยที่ TFM ไปลงทุนอยู่แล้วคือ บริษัท พีที ไทยยูเนี่ยน คาริสมา เลสทารี จำกัด หรือ TUKL ซึ่งเติบโตมากกว่า 115% แบบ YoY ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และจะดีต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง”
ปัจจัยบวกที่สนับสนุน การเติบโตของ TFM จะเป็นโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ
ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะกระทบกับต้นทุนค่าแรงของธุรกิจอาหารสัตว์น้ำน้อยมาก เนื่องจากในกระบวนการผลิตของ TFM เป็น Automation ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร จึงมีปริมาณพนักงานไม่มาก ด้านค่าพลังงานที่ปรับตัวขึ้น บริษัทมีพลังงาน Solar ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการศึกษาและจัดหาเครื่องจักรทันสมัย เข้ามาลงทุนตามกรอบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( BOI) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนพลังงานจากเทคโนโลยีใหม่ๆได้
ด้านปัจจัยเสี่ยง ยังเป็นกลุ่มปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคระบาดในกุ้ง น้ำท่วม ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตกุ้งในประเทศ ปรับตัวลง และกระทบต่อ ปริมาณการใช้อาหาร เป็นต้น
“แผนงาน 3 ปี คิดว่าในช่วงปี 2568 อาจจะยังไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ โดยที่น่าจับตามองจะเป็นการลงทุนเครื่องจักรใน Phase 2 ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 60% (กำลังการผลิต เดือนละ 2,500 ตัน) ซึ่งหลังจากที่ใกล้เต็มกำลังการผลิต จะทำการเพิ่มกะการทำงานก่อน และติดตามให้มียอดขายที่ค่อนข้างทำให้มั่นใจก่อนที่จะลงทุน Phase 2”
โดย ปี 2568 คิดว่าจะเป็น Organic Growth ปี 2569 อาจจะมีการลงทุนใหม่ ๆ ให้เห็น โดยอาจจะเป็นทั้งใน หรือต่างประเทศ TFM พร้อมสำหรับการลงทุน เนื่องจากปัจจุบัน มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนค่อนข้างต่ำ โดยถ้าหากพิจารณาแค่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน จะอยู่ที่ 0.08 เท่า เท่านั้น
การจัดระเบียบธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและความท้าทายแห่งยุคสมัยคือกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้TFM สามารถทำกำไรได้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว