ปี 67เก๋ง“โตโยต้า”คว้าเบอร์1ป้ายแดง ทะลุแสนคันทิ้งที่2ฮอนด้า5.7หมื่นคัน

ปี 67เก๋ง“โตโยต้า”คว้าเบอร์1ป้ายแดง  ทะลุแสนคันทิ้งที่2ฮอนด้า5.7หมื่นคัน

กรมการขนส่งทางบก รถส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนจดทะเบียนป้ายแดงช่วง 7 เดือนแรกปี 67 “โตโยต้า” คว้าสถิติจดทะเบียนป้ายแดงสูงสุดที่ 1.1 แสนคัน

จากจำนวนรวม 3.22 แสนตัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนทุกประเภท ทะลุ 1.6 ล้านคัน ส่วนใหญ่ยังเป็นรถสันดาป ขณะที่อีวี มีจำนวน 5.9 หมื่ีนตัน เปิดโปรลดภาษีอีวีต่อทะเบียน 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก เผยถึงสถิติจำนวนรถใหม่(ป้ายแดง) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จำแนกตามยี่ห้อและเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- ก.ค. 2567 ว่า สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) มียอดจดทะเบียนรวม 322,627 คัน จำนวนนี้เป็นยี่ห้อ โตโยต้า ซึ่งมียอดจดทะเบียนที่ 110,861 คัน รองลงมาคือฮอนด้า 57,908 คัน และ อิซูซุ 34,420 คัน

ส่วนอีวี พบว่า ยี่ห้อ บีวายดี มียอดป้ายแดงสูงสุด จำนวน 17,337 คัน รองลงมาคือ NETA4,278 คัน DEEPAL 3,667 คัน  AION 2,606คัน TESLA 2,537 คัน

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมกล่าวว่า สถิติการจดทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทั่วประเทศประจำปี พ.ศ. 2567 เดือนม.ค. -ก.ค. 2567 พบผู้นำรถใหม่มา

จดทะเบียนจำนวน 1,623,778 คัน แบ่งเป็น เดือนม.ค. 259,299 คัน เดือนก.พ. 227,883 คัน เดือนมี.ค. 234,429 คัน เดือนเม.ย. 199,056 คัน เดือนพ.ค. 249,757 คัน เดือนมิ.ย. 231,948 คัน และเดือนก.ค. 221,406 คัน 

“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศที่มีสาเหตุมาจากรถยนต์รวมถึงยานพาหนะที่ใช้กันบนท้องถนนปล่อยก๊าซจากเครื่องยนต์สันดาป ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรถพลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV (Electric Vehicle) ถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำงานที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันช่วยลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ”

 การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งปัจจุบันการใช้รถพลังงานไฟฟ้าหรือรถ อีวีกำลังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติการจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทั่วประเทศประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างเดือนม.ค. -ก.ค. 2567 มีจำนวน 59,670 คัน แบ่งเป็น 

เดือนม.ค.15,915 คัน เดือนก.พ. 6,259 คัน เดือนมี.ค. 7,373 คัน เดือนเม.ย. 5,973 คัน เดือนพ.ค. 7,969 คัน เดือนมิ.ย. 7,911 คัน และเดือนก.ค. 8,270 คัน 

เปิดโปรลดภาษีหนุนคนใช้อีวีเพิ่ม

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีมาตรการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงานและนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับมาตรการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงานและนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ตั้งแต่วันนี้ - 10 พ.ค.2568           โดยให้ลดภาษีลง 80% จากอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้- รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,751 - 2,000 กิโลกรัม ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 1,600 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 320 บาท- รถตู้ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,751 - 2,000 กิโลกรัม ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 800 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 160 บาท 

ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 50 บาท ลดภาษีประจำปีแล้วคงเหลือ 10 บาท เป็นต้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่รถนั้นจดทะเบียนเป็นระยะเวลา 1 ปี

ฮุนได ทุ่มพันล้านผลิตอีวี-แบตเตอรี่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลังมอบบัตรส่งเสริมให้กับนาย แจ กยู ชอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายจุน โฮ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย นายวัลลภเฉลิมวงศาเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด

ในโอกาสที่บริษัท ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งจากประเทศเกาหลีใต้ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และแบตเตอรี่ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตต้นปี 2569 

“การลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ อีวีของค่ายเกาหลีในครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทยโดยบริษัทมีความร่วมมือกับบริษัทไทยตั้งแต่การประกอบรถยนต์และแบตเตอรี่ จนถึงการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Charging Station) ของไทย”