ลุ้นนโยบาย 'แพทองธาร' ตรึงค่าไฟงวด ม.ค.- เม.ย.68 ที่ 4.18 บาท
ลุ้นนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร” ปลดล็อกค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.- เม.ย.2568 เผยปัจจัยบวกมีโอกาสตรึงอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จากแนวโน้มค่าเชื้อเพลิงในตลาดโลกอ่อนตัวลง บวกกับผลผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น
นับถอยหลังอีกอึดใจเดียวภายในเดือนกันยายน 2567 รัฐบาลภายใต้การนำของ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 จะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจากนั้นจะเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายทางด้านพลังงานของรัฐบาลชุดใหม่ และจากธงที่ตั้งไว้จะมีการ “ปรับเล็ก” คณะรัฐมนตรีเท่านั้น
จึงเชื่อว่านโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะอัตราค่าไฟฟ้าที่หลายคนกำลังเกาะติดอย่างใกล้ชิด
โดยวันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นวันเริ่มต้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 31/2567 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที อยู่ในระดับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย และกลุ่มเปราะบางที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อหน่วย ได้คงอัตราค่าไฟไว้เท่าเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนไปแล้วนั้นคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าในปี 2568
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า เมื่อดูกลไกของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2568 มีสัญญาณอ่อนตัวลง คาดว่าราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะต่ำกว่า 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู หลังจากผ่านช่วงปลายปี 2567 ราคา LNG เคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงประมาณ 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพราะประเทศในแถบยุโรปจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่ง กกพ. จะติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะมีความผันผวนมากน้อยแค่ไหน
จากแนวโน้มราคาพลังงานลดลง เป็นสัญญาณบวกที่จะทำให้มีโอกาสเห็นค่าไฟงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 สามารถตรึงราคาอยู่ในอัตราเดิม 4.18 บาทต่อหน่วยได้ อย่างไรก็ตาม อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับมากน้อยแค่ไหนจะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้วย รวมถึงปัจจัยการชำระหนี้รวมกว่า 110,000 ล้านบาท และอัตราแลกเปลี่ยน จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาค่าไฟอย่างเหมาะสม
“ตัวแปรด้านเชื้อเพลิงที่ช่วยผลิตค่าไฟฟ้าให้ถูกลงสามารถเลือกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือไฟฟ้าจากพลังงานน้ำก็จะช่วยได้ รวมถึงสัญญาณที่ดีจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะมีผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่มั่นคง และราคาถูกเข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น”
ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิงนั้นได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เห็นค่าไฟงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย อยู่ที่การชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อาจจะช้าออกไป ซึ่งจะต้องพิจารณาจากความเหมาะสมทุกด้าน เพราะการกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้คืนย่อมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระเงินกู้ของ กฟผ. รวมถึงการถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ซึ่งทาง กกพ. ได้ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีภาระที่จะต้องชำระหนี้ AF คืนให้กับ กฟผ. จำนวน 95,000 ล้านบาท และชำระค่าเชื้อเพลิง AFGas คืนให้กับ กฟผ. และ ปตท. จำนวน 15,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 110,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะมีทางออกอย่างไร
ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบนโยบายให้มีการฟอร์มทีมขึ้นมาพิจารณาหาทางออกให้ดีที่สุด ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากรัฐบาล, ผู้แทนจากด้านนโยบาย, กระทรวงพลังงาน, กฟผ. และ ปตท.โดยยึดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ประชาชน และผู้กำกับนโยบาย
“หน้าที่ของ กกพ. คือ การพิจารณาอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์