เปลี่ยน ‘Vision’ เป็น ‘Action’ โจทย์ใหญ่ ‘แพทองธาร’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การเมืองไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หลังจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้ ครม.ชุดเดิมต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
แม้ว่าขั้นตอนทางรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมีความราบรื่น และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 2 วัน หลังจากที่เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งวันที่ 16 ส.ค.67ที่ผ่านมา สภาฯ ก็โหวตให้แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31
ขณะนี้นายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการเข้ารับตำแหน่งตามขั้นตอนโดยต้องรอให้มี ครม.ชุดใหม่ก่อนนายกฯ จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณพร้อม ครม.จากนั้นจะมีการแถลงนโยบายต่อสภาฯ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้
แม้ว่านายกฯ และ ครม.ใหม่จะยังทำหน้าที่ในตำแหน่งไม่ได้อย่างเป็นทางการ แต่จากวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ฉายภาพแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไว้บนเวที “Vision for Thailand” ที่จัดโดยเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67ที่ผ่านมา ก็ถือเป็น “วิชั่น” สำคัญที่รัฐบาลจะนำไปขับเคลื่อนต่อได้
เพราะเป็นวิชั่นที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า เช่น เรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินโดยการแฮร์คัตหนี้เสียบางส่วน การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินที่มีอยู่จาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ที่รัฐบาลเดิมได้ทำไว้วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท มาแจกให้กลุ่มคนเปราะบาง และกลุ่มผู้พิการ
ไปจนถึงนโยบายที่ต้องทำระยะต่อไปทั้งการดึงการลงทุน สนับสนุนทุนไทยไปลงทุนนอก หาโอกาสใหม่ๆ ให้เศรษฐกิจของประเทศ เช่น การสร้างให้ไทยเป็นฮับการเงินโลก ดึงธุรกิจดาวเทียมจากจีนมาร่วมมือผลิตในไทย
การสร้างฐานส่งจรวดจากไทยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงการปฏิรูประบบภาษี ลดภาษีนิติบุคคล ทำภาษี Negative Income Tax และดึงเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินเพื่อสร้างรายได้ใหม่ และนำเอาเงินที่ได้มากำหนดการใช้จ่ายภาษีโดยเฉพาะแบบที่เรียกว่า Earmarked Tax เป็นต้น
วิชั่นเหล่านี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี และหากทำได้จริงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ทั้งระยะสั้น และการสร้างการเติบโตในระยะยาว ซึ่งอดีตนายกฯ ทักษิณ เองก็บอกว่าพร้อมจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีเป็นคนช่วยคิดช่วยผลักดันการทำงานอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามแม้ว่านายกฯ แพทองธารจะมี “โค้ช” ที่ดี ที่มีวิชั่น มีไอเดียในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปขับเคลื่อนการบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของแพทองธารที่เป็นนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งความสำเร็จ หรือความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
การขับเคลื่อนประเทศโดยแปลงจากวิชั่นให้เป็นนโยบาย และเปลี่ยนจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติจึงถือเป็นความท้าทายการทำงานของทุกรัฐบาล หากไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นระบบก็จะไม่สามารถทำให้วิชั่นที่ดีเกิดขึ้นได้จริง
เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องรีบทำความเข้าใจ และเรียนรู้ให้ได้โดยเร็วว่าจะขับเคลื่อนจากวิชั่นให้เป็นนโยบายที่แอคชั่นปฏิบัติจริงได้อย่างไร
เพราะหากทำได้ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่หากทำไม่ได้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะลดลง และแรงกดดันทางการเมืองก็จะตามมาในที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์