“แพทองธาร” อย่ารอความหวัง เงินดิจิทัลฟื้นเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.2567 ที่กระทรวงการคลังรายงานจะมีภาพรวมดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง
ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะมีสัญญาณดีขึ้นจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวดี แต่ปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ยังชะลอตัว
ในขณะที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ถึงเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือนคนป่วย ซึ่งจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจผ่านนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อเป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยหวังที่จะสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน
การขับเคลื่อนนโยบายการแจกเงินดิจิทัลเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาด้านแหล่งเงินงบประมาณ ซึ่งในช่วงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีการเกลี่ยงบประมาณ โดยตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นหรือเร่งด่วนมาใช้ดำเนินการ แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีแนวคิดการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งได้รับการท้วงถึงข้อกฎหมายทำให้ปรับแนวทางมาใช้งบประมาณปี 2567-2568 และการจ่ายเงินดิจิทัลได้ล่าช้าไปถึงไตรมาส 4 ปี 2567
เมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มีการปรับแนวทางเป็นการจ่ายเงินบางส่วนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อใช้งบประมาณประจำปี 2567 ให้ทันกรอบเวลา และบางส่วนรอการใช้งบประมาณประจำปี 2568 แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะรอผลของนโยบายการแจกเงินดิจิทัลเป็นสำคัญไม่ได้ รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องจัดตั้งให้เร็วและมีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวออกมาเพื่อดำเนินการในทันทีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จ
นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 450,000 ล้านบาท จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่จะดำเนินการ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องการนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นได้ชัดถึงการส่งออกสินค้า เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าได้สูงกว่าไทย เพราะมีการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าไทย ซึ่งประเด็นนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง