1 ปี 'พิมพ์ภัทรา' พลิกอุตสาหกรรมไทย พร้อมส่งไม้ต่อ รมว.อุตสาหกรรม คนใหม่
1 ปี บนเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม “พิมพ์ภัทรา” พลิกอุตสาหกรรมไทย ด้วยนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมส่งไม้ต่อ รัฐมนตรีฯ คนใหม่ พร้อมส่งไม้ต่อให้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ต่อไป
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 1 ปี ของการเข้ามาบริหารงานในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ตนได้ขับเคลื่อนนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแนวทางในการพลิกอุตสาหกรรมไทยที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยรื้อ คือ เร่งรื้อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น โดยการ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่คงค้างแล้วเสร็จ จำนวน 187 คำขอ
ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 12,000 ล้านบาท และดำเนินการออกใบอนุญาตที่ขอใหม่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนการแก้ไขปัญหาผังเมือง เพื่อให้เกิดการลงทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ลด คือการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ โดยเร่งดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา และการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5
ขณะเดียวกันได้กำชับให้มีการ ตรวจ กำกับดูแลโรงงาน/วัตถุอันตราย และการจดทะเบียนเครื่องจักรจำนวน 28,869 โรง ทั่วประเทศ รวมถึงยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีจำนวนโรงงานได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ร้อยละ 87.66 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 90 ของจำนวนโรงงานทั้งหมดที่แจ้งประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) เพื่อสร้าง/ ขยายเครือข่ายการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ประโยชน์
ในรอบ 1 ปี ทีผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินหน้ากวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง พร้อมทั้งเร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันในทุกเวทีการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีมูลค่าการตรวจจับ ยึด-อายัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการผลักดันการจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนการพัฒนานิคม Smart Park เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล
รวมทั้งได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า/จักรยานยนต์ไฟฟ้า Solar Rooftop และอุตสาหกรรม Recycle เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด BCG โดยแบ่งเป็น การส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามแนวทาง BCG จำนวน 1,500 ราย 300 กิจการ 200 ผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่ม และ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานได้รับการส่งเสริมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม 600 ราย และผู้ประกอบการนักลงทุนที่สนใจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ 950 ราย
กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรดิจิทัลเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถพัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (E-Payment) ให้มีรายรับการชำระเงิน สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ยอดรวมการรับชำระเงิน สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ และได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ “อุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 สู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านกิจกรรม 8 ด้าน รวม 298 กิจกรรม รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินจากการประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อก. (ศบฉ.) เพื่อจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
สำหรับนโยบาย “ปลด” คือ การปลดภาระให้ผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด ปลดล็อกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ และรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจหรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และได้พัฒนาระบบรับชำระเงินค่าภาคหลวงแร่ ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ตลอดจนระบบการออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์
1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยปล่อยสินเชื่อลดโลกร้อน Decarbonize Loan กว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่มีความตั้งใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน และได้ผลักดันเหมืองแร่โปแตช เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรให้เกษตรกร และได้จัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเป็นเงินที่จัดเก็บในขั้นตอนการออกอาชญาบัตร และประทานบัตรเหมืองแร่ คาดว่าจะสามารถจัดสรรผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ จำนวน 526.71 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้เร่งส่งเสริม MSMEs ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ จำนวน 5,940 ราย 1,320 กิจการ 37 กลุ่ม/ เครือข่าย 520 ผลิตภัณฑ์ สามารถยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจรพัฒนาเพิ่มผลิตภาพอ้อย จำนวน 4,000 ราย 1,480 กิจการ 30 กลุ่ม และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้เพิ่ม โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน/ แปรรูปสินค้าเกษตร ส่งเสริม/ พัฒนาผู้ประกอบการ 4,780 ราย 428 ผลิตภัณฑ์
ในส่วนของนโยบาย “สร้าง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ได้เร่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาลาล มีการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567-2570) ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรม จะเพิ่มขึ้น 55,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ส่งผลให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 100,000 คน/ ปี และมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี นอกจากนี้ยังได้ผลักดันนโยบายการพัฒนาโกโก้สู่การเป็น ASEAN COCOA HUB เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมีกระบวนการผลิตสู่สินค้าพรีเมียมยกระดับผู้ผลิตไทยในตลาดโลก อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาไปสู่ระดับโลกได้นั้น เศรษฐกิจฐานรากต้องแข็งแรง กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินหน้าเปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม โดยการสร้างโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนทั่วประเทศให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “กำไรเพิ่ม รายได้เพิ่ม ธุรกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน”
กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 1 ปีที่ผ่านมาได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพและนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และลดการนำเข้า เพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศและประชาชน นอกจากนี้ได้พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) งานก่อสร้าง (Construction) จะมีความก้าวหน้าในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 95.00 ขณะเดียวกันได้พัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมและบริหารแห่งอนาคต 1,508 ราย 159 กิจการ 3 เครือข่าย 20 ต้นแบบ 28 ผลิตภัณฑ์