พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ นำผู้ประกอบการ ซื้อ“มะเขือเทศ-ฟักทอง”ดันราคาขึ้น
พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่” นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิต “มะเขือเทศ-ฟักทอง” จากเกษตรกรพื้นที่ อ.อมก๋อย และ อ.ฮอด ในราคานำตลาด เป้าหมาย 400 ตัน หลังผลผลิตตกค้าง เพื่อช่วยดูแลและยกระดับราคาให้กับเกษตรกร
นางนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผลผลิตมะเขือเทศเข้าสู่ช่วงปลายฤดูการผลิต และเริ่มมีผลผลิตต้นฤดูใหม่ออกมา ซึ่งผลผลิตบางส่วนในช่วงปลายฤดู คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากผู้ประกอบการรอซื้อผลผลิตรุ่นใหม่แทนรุ่นเก่า ทำให้มีผลผลิตตกค้าง ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่จึง ได้นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตมะเขือเทศพันธุ์ท้อ และฟักทอง จากเกษตรกร ในพื้นที่อำเภออมก๋อย และอำเภอฮอดในราคานำตลาด ปริมาณ 400 ตัน
โดยจะรับซื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะสามารถขายผลผลิตได้ในระดับราคาที่เหมาะสมตลอดฤดูกาลการผลิต และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยังจะติดตามการรับซื้อและส่งมอบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ ได้รับคำยืนยันจากผู้ประกอบการว่ามีความต้องการสินค้ามะเขือเทศและฟักทองในปริมาณมาก เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน และส่วนหนึ่งนำไปจำหน่ายในตลาดปลายทางในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นว่ามีปริมาณมากขึ้น จึงนำผู้ประกอบการจากส่วนกลางเข้าไปรับซื้อในราคานำตลาดทันที ส่งผลให้ระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ ราคาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี”
สำหรับผลผลิตฟักทอง มีผลผลิตปลายฤดูบางส่วนที่มีความจำเป็นที่ต้องนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ได้นำผู้รวบรวมในพื้นที่รวมถึงโรงงานแปรรูป เข้าไปรับซื้อในราคานำตลาดเช่นกัน ส่งผลให้ระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
นางนัยนภัส กล่าว การดูแลสินค้าเกษตรพืชรอง (ผลไม้ ผัก และพืช 3 หัว) เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ดำเนินการ และถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย เพื่อดูแลเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม คุ้มกับต้นทุนการผลิต และมีกำไรสำหรับการยังชีพ
รวมทั้งได้มีการประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อดูแลสถานการณ์การผลิต สถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด และเข้าไปบริหารจัดการทันที หากมีปัญหาเกิดขึ้น